วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

ริษยา


                ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

คำว่า "ริษยา" เป็นคำที่ใช้ในภาษาไทย  ภาษาบาลีใช้คำว่า "อิสสา" คือลักษณะของอิสสาเจตสิก....อิสสาสังโยชน์เป็นไฉน  ได้แก่ การริษยา กิริยาที่ริษยา ความริษยา การเกลียดกัน กิริยาที่เกลียดกัน ความเกลียดกันในลาภสักการะ  การทำความเคารพ การนับถือ การไหว้ การบูชาของคนอื่นอันใดนี้เรียกว่า อิสสาสังโยชน์

บางท่านอาจจะคิดว่าตนเองไม่เคยริษยาใครเลย  แต่ถ้าได้ฟังลักษณะของอิสสาแล้วก็พิจารณาจิตใจของตนเองจริง ๆ  พอที่สติจะระลึกได้ว่า ในขณะไหนที่เป็นความริษยา อาจจะไม่รุนแรง แต่เพียงนิดเดียวที่เกิดขึ้น ก็ทำให้เห็นได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอิสสาเจตสิก ความอิสสาหรือริษยาจะเกิดขึ้นเมื่อมีลาภของคนอื่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิด เพราะเหตุว่า ลักษณะของความริษยานั้นเป็นการขึ้งเคียดสมบัติของผู้อื่น ไม่พอใจที่คนอื่นมีสมบัตินั้น ๆ

นี่ก็แสดงให้เห็นถึงอกุศลมีมากมายหลากหลายประเภท มีโลภะ มีความรักตน มีมานะ มีความสำคัญตนมากจนกระทั่งไม่อยากที่จะให้ผู้อื่นดีกว่าตน  นั่นก็คือลักษณะของความริษยา ซึ่งจะพิจารณาเห็นได้ว่า ขณะใดที่มีความริษยาเกิดขึ้น ขณะนั้นรู้สึกสบายใจไหม  ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ ขณะนั้นเป็นลักษณะของโทสมูลจิต และถ้าขณะนั้นมีสมบัติของคนอื่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของอิสสา

อิสสาหรือความริษยา เป็นธรรมที่อันตรายมาก เพราะไม่สามารถแม้จะยินดีกับความสุขของคนอื่นได้ เป็นความรักตน สำคัญตนอย่างยิ่ง ซึ่งทนไม่ได้ต่อสมบัติของคนอื่น

สำหรับอิสสาเจตสิกนี้เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต  แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกครั้งที่โทสมูลจิตเกิด จะต้องมีอิสสาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ

               
                   ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน    

                                                          ...........................................