วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ที่สุดของความจริง




 ขอนองน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ท่านทราบมั้ยว่า ที่สุดของความจริงคืออะไร

ที่สุดของความจริง  ก็คือสภาพธรรมที่มีจริง ได้แก่  จิต เจตสิก รูป นิพพาน  หรือเรียกสั้น ๆ เป็นภาษาบาลีว่า "ปรมัตถธรรม" 

จิต  เป็นสภาพที่มีจริง เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้  เป็นธาตุหรือเป็นสภาพธรรมที่มีจริง  มีลักษณะเฉพาะอย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย  แล้วก็ดับไปไม่เหลือเลย  ไม่มีสิ่งใดที่เกิดโดยปราศจากเหตุปัจจัย และไม่มีสิ่งใดที่เกิดแล้วจะไม่มีการดับ...... จิต หมายถึงธาตุรู้ ๆ  ทุกอย่างตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย......จิต  เป็นธาตุรู้ ๆ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖  ถ้าไม่ได้ยินเสียง  หรือถ้าไม่มีสภาพรู้เสียง  เสียงนั้นก็จะปรากฏไม่ได้เลย


เจตสิก เป็นธาตุรู้  เป็นนามธรรม เป็นธาตุที่มีจริง เกิดพร้อมกับจิตและดับพร้อมกับจิต  เจตสิกเกิดร่วมกับจิตแต่ละขณะอย่างน้อย ๗ ประเภท  เจตสิกรู้อารมณ์เดียวกับจิต เจตสิกเกิดขึ้นทำกิจแตกต่างกัน

รูป  เป็นธาตุที่ไม่รู้อะไร  เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่รู้อะไร  เช่น  เย็น ร้อน อ่อน แข็ง  ไหว ตึง ก็เป็นธาตุเฉพาะอย่าง

ธาตุมีมากมายหลากหลาย แต่เราจะไม่ได้คิดถึงชื่อ  เราคิดถึงความจริงที่สุด ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มีจริงที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ  สิ่งที่มีจริง ๆ  เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปหมดไม่เหลือและไม่กลับมาอีกเลย  ขณะนี้ก็มีธาตุเกิดดับอย่างหลากหลาย  แต่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้  ก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิด  เห็นว่าธาตุเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมากนั้น ว่าเป็นของเที่ยงยั่งยืน  แล้วก็จดจำนิมิตของจิต  จดจำรูปร่างสัณฐานนิมิตของจิต


เพราะฉะนั้น  ตามความจริงที่ถึงที่สุดของความจริงก็คือ  จิต เป็นธาตุรู้  ซึ่งสามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้  เช่น ขณะนี้กำลังมีเห็น  กำลังได้ยิน  กำลังได้กลิ่น  กำลังลิ้มรส กำลังกระทบสัมผัส  กำลังคิดนึก  ซึ่งเป็นความจริงที่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย  เป็น "นิยาม" คือ เป็นความจริงที่จะต้องเป็นเช่นนั้น   จิต ๑ ขณะเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป  เป็นปัจจัยให้จิตดวงอื่นหรือขณะต่อไปเกิดขึ้น  และจิตเกิดขึ้นทุกขณะต้องมีสิ่ง (อารมณ์) ให้จิตรู้เสมอ


                                                       .......................................


                                                   ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                             

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มงคลกิริยา




 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


มงคลกิริยา  หมายถึง  การแสดงกิริยาต่าง ๆ  เช่น  การรคำนับ  การไหว้  การต้อนรับ  การแสดงมารยาทที่สมควรต่อผู้อื่น บางท่านอาจจะคิดว่า  การแสดงมงคลกิริยาและการแสดงมารยาท ไม่มีผล  แต่ถ้าพิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่า  การแสดงกิริยาต่าง ๆ ทางกายและทางวาจานั้น มีทั้งที่เป็นกุศลและที่เป็นอกุศล

การแสดงการต้อนรับ การคำนับใคร หรือการแสดงมารยาทอันดีงามต่าง ๆ ก็ตาม  ถ้าแสดงด้วยใจจริง จิตขณะนั้นเป็นกุศลจิต  แต่ถ้าการแสดงการต้อนรับหรือคำนับด้วยความไม่จริงใจ หรือไม่แสดงการต้อนรับ หรือไม่มีมงคลกิริยา  ในขณะนั้นก็จะส่องไปถึงสภาพจิตขณะนั้นว่า เป็นลักษณะจิตที่หยาบกระด้าง ขาดความเมตตา เป็นอกุศลจิตในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นมงคลกิริยา คือ การต้อนรับ การคำนับ หรือการไหว้ของบุคคลทั้งหลายในชีวิตประจำวันในสังคมซึ่งมีการแสดงต่อกัน  ก็รู้ว่ามงคลกิริยาทั้งหลายเหล่านั้นมี  และเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลด้วย
เพราะเหตุว่า กุศลจิตและอกุศลจิตเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล  โดยเฉพาะขึ้นอยู่ที่เจตนา (ความตั้งใจ) ที่เป็นกุศลหรือที่เป็นอกุศล  ถ้าเป็นความตั้งใจที่เป็นอกุศล ก็เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดอกุศลวิบาก  ในทางตรงข้าม ถ้าเป็นความตั้งใจที่เป็นกุศล  ก็เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดกุศลวิบาก


                                                        ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                               
                                                                 ...................................

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พระอริยบุคคล



 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระอริยบุคคลมี ๔ ระดับขั้น แบ่งตามระดับความเบาบางของกิเลสที่ดับ  ที่ละด้วยปัญญาตามระดับความแก่กล้าของอินทรีย์  และความสมบูรณ์ของศีล สมาธิและปัญญาแตกต่างกัน

พระโสดาบัน....ละสักกายทิฏฐิ  ละวิจิกิจฉา  ละสีลัพพตปรามาส  พระโสดาบันยังมีความยินดีพอใจในกามอารมณ์อยู่  ยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ แต่พระโสดาบันไม่ล่วงศีลห้า

พระสกทาคามี....ทำความยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฎฐัพพะ ให้เบาบางลง  ยังละกิเลสคือโทสะหรือปฏิฆะยังไม่ได้  พระสกทาคามีมีศีล ๘ เป็นปรกติเสมอในเพศคฤหัสถ์  มีศีลสมบูรณ์ แต่ยังไม่สมบูรณ์ด้วยสมาธิและปัญญา

พระอคานามี....ละกามราคะ และปฏิฆะได้  สมบูรณ์ด้วยศีลและสมาธิ  แต่ยังไม่สมบูรณ์ด้วยปัญญา

พระอรหันต์.....ละสังโยชน์ได้ทั้งหมด ละมานะและละอวิชชาได้ทั้งสิ้น หมดกิจในพระพุทธศาสนา

การที่จะทราบได้ว่าบุคคลใดเป็นพระอริยบุคคล  ก็จะต้องเข้าใจหนทางปฏิบัติ เพื่อตวามเป็นพระอริยบุคคลเสียก่อน  และจะต้องเป็นผู้มีปัญญา ที่เสมอหรือมีปัญญาเหนือกว่าบุคคลนั้น  จึงจะสามารถรู้ได้  ต้องมีความเห็นถูกและตรงตามความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้  ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะดับกิเลสได้  

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการฟังธรรม  ศึกษาธรรม  พิจารณาไตร่ตรองสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  อบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกว่าปัญญาจะแก่กล้า สามารถประหารกิเลสตามลำดับขั้น  บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคล  ก็จะสามารถรู้ได้ด้วยปัญญา ว่าบุคคลใดเป็นพระอริยบุคคล


                                                      ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                               ..................................

วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แนวทางเจริญสติปัฏฐาน (ตอนที่ ๓)

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ความเข้าใจเกี่ยวกับเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เวทนาเจตสิก เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง  ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน.....เวทนาเจตสิกเกิดขึ้นเพียงขณะที่สั้นมากแล้วก็ดับไปทันที......เวทนาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และเกิดขึ้นพร้อมกับจิต ในขณะนั้นความรู้สึก ทุกขเวทนา สุขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาจึงมีได้.....เวทนาเป็นใหญ่ในการรู้สึก......เวทนาเป็นใหญ่ในการเสวยอารมณต่าง ๆ  ปรากฏทางตา  ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ

ขณะที่มีแมลงวันไต่ตามตัว แล้วเราเกิดความรูสึกว่ารำคาญ  ขณะนั้น "ธาตุดิน" กำลังปรากฏ แม้ว่าขณะนั้นกำลังมีธาตุดินกำลังปรากฏ  แต่เป็นการกระทบที่เบา ๆ  เท่านั้น  ขณะที่เกิดความรู้สึกรำคาญ ซึ่งเป็นลักษณะของเวทนาเจตสิกที่กำลังปรากฏนั่นเอง  เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจะต้องมี "รูป" แข็งหรืออ่อน (ธาตุดิน) เกิดขึ้นเป็นเหตุที่ทำให้ ความรู้สึกอย่างนั้นเกิดขึ้น  เพราะฉะนั้น ขณะนั้นมีอ่อน หรือมีแข็งเกิดขึ้นเป็นเหตุ ที่ทำให้ความรู้สึกอย่างนั้นเกิดขึ้น  และเหตุก็คือการกระทบกันของรูป (ธาตุดิน ธาตุไฟ และธาตุลม) ที่กระทบกับกายปสาทรูป  และขณะนั้น เวทนาเจตสิก เป็นใหญ่ในการรู้สึก  เรียกว่า "เวทนินทรีย์"

ถ้าเวทนาเจตสิกไม่เกิด  จิตก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของเวทนาเจตสิกนั้น ๆ ได้  และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มีไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่า  เวทนาเจตสิกเกิดปรากฏกับจิต ในขณะนั้นความรู้สึก ทุกขเวทนา  สุขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา จึงมีได้

สติเป็นสภาพธรรม ที่สามารถระลึกตรงลักษณะของ "เวทนาเจตสิกนั้น ๆ" ได้.....สติระลึกรู้ว่า "เวทนาเจตสิกนั้น ๆ  เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ที่เกิดพร้อมกับจิตและดับพร้อมกับจิต  ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

สำหรับการอบรมปัญญาที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานนั้น  "จิต" จะต้องเกิดขึ้นรู้อารมณ์ คือ ทำกิจเพียงรู้ลักษณะของอารมณ์ต่าง ๆ เท่านั้น  โดยขณะนั้น "สติ"  จะทำกิจระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น  และ "ปัญญา" ก็จะทำกิจรู้ลักษณะตามปรกติ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ๆ  ที่กำลังปรากฏให้จิตรู้ในขณะนั้น ๆ


                                                           
                                                         ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                           .............................................





แนวทางเจริญสติปัฏฐาน (ตอนที่ ๒)


แนวทางเจริญสติปัฏฐาน (ตอนที่๒)  

การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานจะต้องทำอย่างไร......สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือลักษณะของรูปธรรม ที่กำลังปรากฏขณะนี้  ต้องมีลักษณะของรูปธรรมปรากฏที่กายให้รู้  จึงจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน......เวลานี้มีกาย แต่ว่าหลงลืมสติ คือขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ตรงลักษณะของรูปที่กาย  หรือไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามอย่างหนึ่งอย่างใด ที่กำลังปรากฏที่กาย นั่นก็คือหลงลืมสติ

ขณะนี้มีกายแล้ว  และก็มีรูปที่ประชุมรวมกันเป็นกาย  มีรูปหลายรูป  ไม่ได้มีเพียงรูปเดียว หรือกลุ่มเดียว เท่านั้น มีรูปเกิดอยู่ทั่วกายเยอะแยะ และก็กำลังเกิดดับ ทยอยกันเกิดทยอยกันดับในขณะนี้  เพราะฉะนั้น ในเวลาที่สติปัฏฐานเกิด สติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กายขณะไหน....เช่น เวลานี้กำลังยืนอยู่ ก็รู้ว่ากำลังยืน  สติปัฏฐานเกิดหรือยัง......สติปัฏฐานยังไม่เกิด  ถ้าตอบไม่ได้เพราะว่ายังไม่แน่ใจ  อย่างนั้นก็ยังไม่รู้อะไรเลย  ยังไม่ต้องเจริญสติปัฏฐาน  อย่าเพิ่งรีบร้อนไปทำอะไร เพราะว่าสติปัฏฐานจะเกิดได้ต้องเข้าใจข้อปฏิบัติ  เมื่อมีความเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม  ก็จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมตามความเป็นจริงได้  ตามที่ได้ศึกษาและเข้าใจ

ขอทบทวนอีกครั้ง....ขณะนี้เข้าใจว่า มีรูปทยอยกันเกิดทยอยกันดับ  ขณะที่รู้ว่ากำลังยืน  สติปัฏฐานยังไม่เกิด  เมื่อสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ที่กาย  ระลึกรู้อะไร......สติระลึกรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง  ที่ปรากฏที่กายเท่านั้น ไม่ใช่นึกคิดเอาเองว่ามี เย็น ร้อน อ่อน แข็ง....สภาพธรรมที่มีจริงไม่ต้องพูดก็รู้  ขณะนั้นต้องมีสภาพที่รู้แข็งด้วย  คือระลึกรู้ตรงสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏที่กายขณะนั้น  แม้ไม่พูดว่า "แข็ง" ก็รู้...... เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานจะระลึกรู้รูปแข็ง  หรือว่าจะระลึกรู้ลักษณะของนาม ซึ่งเป็นสภาพรู้ก็ได้  ระลึกอยู่เนื่อง ๆ  บ่อย ๆ  เพราะเหตุว่า ก่อนหน้านั้น ยึดถือว่าเป็นเรา ไม่ใช่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม  จึงไม่ใช่สติปัฏฐาน....

การระลึกกายภายในกายภายนอกหมายถึงอย่างไร.....ก็หมายถึงกายของเราเอง และกายของคนอื่นก็มี  ทุกท่านก็คงจะเคยกระทบสัมผัสกายของคนอื่น  ก่อนหน้านั้นยังไม่เกิดสติปัฏฐาน ก็มีกายของเราและกายของคนอื่น  ยังยึดถือว่าเป็นกาย และยังยึดถือว่าเป็นกายคนอื่น  เมื่อสติปัฏฐานเกิด อย่าว่าแต่กายของคนอื่น  แม้กายของเราเองก็ไม่มี  มีแต่สภาพธรรมเท่านั้น  เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจได้ว่า  ที่เคยคิดเรื่องคนอื่น ลักษณะของปรมัตถธรรมจริง ๆ  เป็นเพียงรูปธรรมที่กระทบสัมผัสกับกายปสาทเท่านั้น  แล้วก็ดับไป  เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราหรือเขา รูปของใครก็ตาม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สติปัฏฐานเกิดขึ้น เพื่อระลึกรู้ว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น  นอกจากนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดแล้วก็ดับไป  ไม่ได้เป็นของใครเลย


จะระลึกรู้เวทนาของเราและเวทนาของผู้อื่นได้อย่างไร  ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน  ท่านเคยนึกถึงใจเขา ใจเรา อกเขา อกเราบ้างไหม  หรือว่ามีแต่ใจเราคนเดียว มีแต่ความรู้สึกของเราคนเดียว  ความรู้สึกของคนอื่นไม่มี  ก่อนสติปัฏฐานเกิด ก็มีคนอื่น มีใจคนอื่น  เพราะฉะนั้นเมื่อสติปัฏฐานเกิด ก็รู้ว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น มีแต่ลักษณะของความรู้สึกของตนเอง ที่กำลังคิดเรื่องของคนอื่น  ถ้ายังไม่สามารถที่จะแยกความคิดออกจากปรมัตถธรรมได้  ก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้....

สติระลึกความรู้สึกไหวตึงก็เช่นกัน ไม่ใช่ไปทำอาการต่าง ๆ  แต่ให้ระลึกตรงลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปรกติ ตามความเป็นจริง  อย่างเช่น ปวดเมื่อยขณะนี้  ก็ระลึกตรงลักษณะรูปธรรมหรือนามธรรม  หรืออย่างไหวก็ระลึกได้.....ขณะนี้กำลังกระพริกตา ก็ระลึกตรงลักษณะรูปไหวหรือระลึกที่นามรู้ไหว  ที่จริงขณะนั้นมีธาตุลมเป็นประธาน  แต่ก็ไม่ต้องไปคิดถึงอะไรทั้งสิ้น สติปัฏฐาานเกิดระลึกรู้รูปธรรมหรือนามธรรมเท่านั้น  แต่ว่าปัญญาขั้นต้น  ยังไม่สามารถแยกขาดรูปธรรมออกจากนามธรรมได้  แต่จะต้องสติเกิดอีกบ่อย ๆ เนื่อง ๆ  จึงใช้คำว่า "อนุสติปัสสนา"  หรือว่าสติระลึกบ่อย ๆ เนือง ๆ นี้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างดับเร็ว  ทันทีที่สติระลึกรู้ รูปธรรมหรือนามธรรมเหล่านั้นก็ดับไปแล้ว  แต่ก็ยังมีปัจจัย ที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดปรากฏอีก  เช่น  แข็งก็มีปัจจัยที่จะให้ปรากฏอยู่ แต่ยังไม่ประจักษ์การดับไป เมื่อใดปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะที่เกิดดับ ไม่มีอะไรจะกีดกั้นการประจักษ์แจ้งของปัญญาได้เลย  แต่ต้องเกิดจากการที่สติระลึกได้เสียก่อน โดยไม่เลือกไม่เจาะจงว่าจะระลึกรูปใดหรือนามใด  แล้วศึกษาลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนั้น.


                                            .....................................

                                        
                                                 ขออนุโมทนาบุญค่ะ















แนวทางเจริญสติปัฏฐาน (ตอนที่ ๑)


ขอนอบน้อมแด่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


สวัสดีค่ะ  ท่านผู้อ่านทุกท่าน

ท่านทราบไหมว่า ในชีวิตของท่านวันหนึ่ง ๆ นั้น ไม่มีสิ่งใดเลย ที่ท่านจะพึ่งยึดถือได้ว่าเป็นตัวตนได้
มีหนทางเดียวเท่านั้น ที่ให้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือ ต้องเจริญสติในขณะนี้เดี๋ยวนี้เอง เรื่องของการเจริญสตินั้น  เป็นเรื่องของการเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริง ๆ ด้วยสติ  คือในขณะนั้นมีการระลึกได้แล้ว ก็พิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ  เพราะเหตุว่าวิธีนี้เท่านั้นที่จะประหารกิเลสได้  ไม่ว่ากิเลสอย่างหยาบหรืออย่างละเอียด สลับสับซ้อนอยู่อย่างไรก็ตาม ถ้าขณะนั้นปรากฏ ปัญญาเท่านั้นที่ต้องรู้ ๆ ว่าสภาพธรรมนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สัตว์ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย  ก็แล้วแต่ว่าจะเกิดทางใด จะเป็นทางตา หรือทางหู  ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

วิธีที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นวิธีขัดเกลาจิตใจ  เป็นวิธีที่จะทำให้ละคลายความไม่รู้  ละคลายอกุศลต่าง ๆ  ก่อนอื่นจะต้องรู้ว่า อกุศลต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สัตว์ ซึ่งวิธีนี้ไม่เหมือนกับวิธีระงับอกุศลไว้ด้วยสมาธิ  ซึ่งเป็นความสงบระงับไว้เพียงชั่วคราวหรือชั่วขณะเท่านั้น

เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ๆ  บางท่านอาจจะไม่ทราบ หรือไม่รู้สึกเลยว่า มี "ความต้องการ" แอบแฝงอยู่ที่ไหน อย่างไรบ้าง มีการจดจ้อง จงใจ ต้องการเฉพาะบางนามบางรูป  จิตจดจ้องอยู่ในอารมณ์เดียว ทำให้ไม่สามารถรู้สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ตามปกติได้ เช่น กำลังเห็นขณะนี้ กำลังได้ยินขณะนี้  แต่ถ้าขณะนี้ไม่ได้จดจ้อง กำลังเห็นเกิดสติระลึกได้  รู้ว่าที่กำลังเห็น ก็เป็นเพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ หรือสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เป็นเพียงของจริงที่ปรากฏทางตา

การเจริญสติปัฏฐานนั้น ละความยินดียินร้ายในโลก....โลกในที่นี้ หมายถึงอารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์อะไรก็ตาม ละความยินดียินร้ายด้วยการรู้ลักษณะของสภาพธรรม (นามและรูป) มากขึ้น เช่น การฟังธรรมเป็นกุศล เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความยินดีพอใจ (อภิชฌา) แต่ว่าไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นเพียงกุศลขั้นการฟัง.....เวลาที่เจริญสติปัฏฐานก็เป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าขณะที่กำลังตั้งใจฟังธรรม ด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจ ในขณะนั้นเป็นมหากุศล เป็นปัญญาจริง  แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของได้ยิน (นาม)  และไม่รู้ลักษณะของเสียง (รูป) เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังแล้วเข้าใจก็ยังเป็นตัวตนอยู่  จึงเป็นแค่กุศลขั้นการฟัง ยังละความเห็นผิดในนามและรูปที่กำลังปรากฏไม่ได้

พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้างามพร้อม ทั้งเบื้องต้น  ท่ามกลาง และที่สุด ทั้งศีลซึ่่งเป็นข้อประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ตามปกติในชีวิตประจำวัน และพร้อมทั้งสมาธิและปัญญา

                                              
                                             
                                                  ขออนุโมทนาบุญค่ะ

                            
                                   ......................................................

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ผลของอกุศลกรรม


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ชีวิตในวันหนึ่ง ๆ หนีไม่พ้นผลของกรรมซึ่งได้กระทำแล้ว  จึงทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่าง ๆ ทางกาย  ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ผลของกรรมใดจะส่งผลเมื่อไรขณะใด......กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วนั้น  เป็นปัจจัยให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส  การรู้กระทบสัมผัสทางกาย

กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว ไม่หายไปไหน เมื่อมีเหตุมีปัจจัยที่จะให้ผลเกิด ผลของกรรมนั้นก็จะเกิดขึ้น โดยไม่มีผู้ใดหลีกเลี่ยงหรือยับยั้งได้เลย  ตลอดจนกระทั่งถึงกาลที่จะปรินิพพาน  เพราะเหตุว่า แม้แต่บุคคลที่ได้สะสมบุญกุศล จนสามารถที่จะบรรลุมรรคผลถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่สามารถที่จะหลีกพ้นจากอดีตอกุศลกรรม ที่ได้กระทำไว้แล้ว

จะเห็นได้ว่าชีวิตของแต่ละคน  บางครั้งก็อาจจะมีความทุกข์  ซึ่งเกิดจากผลของอกุศลกรรม เช่น  ได้เห็นสิ่งที่ไม่ดี  ได้ยินเสียงที่ไม่ไพเราะ  ได้กลิ่นที่ไม่ดี  ได้ลิ้มรสที่ไม่อร่อย  ได้กระทบสัมผัสต่าง ๆ ที่ไม่สบายทางกาย......ดังนั้น  ก็ขอให้ทราบว่า  ต้องมีเหตุที่ได้กระทำไว้แล้ว  ตราบใดที่ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ  อกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นเหตุปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดขึ้นได้  ตลอดไปจนกว่าจะถึงกาลที่จะปรินิพพาน โดยไม่มีผู้ใดสามารถที่จะยับยั้งได้


                                                   
                                                          ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                             ............................................