วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ที่สุดของความจริง




 ขอนองน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ท่านทราบมั้ยว่า ที่สุดของความจริงคืออะไร

ที่สุดของความจริง  ก็คือสภาพธรรมที่มีจริง ได้แก่  จิต เจตสิก รูป นิพพาน  หรือเรียกสั้น ๆ เป็นภาษาบาลีว่า "ปรมัตถธรรม" 

จิต  เป็นสภาพที่มีจริง เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้  เป็นธาตุหรือเป็นสภาพธรรมที่มีจริง  มีลักษณะเฉพาะอย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย  แล้วก็ดับไปไม่เหลือเลย  ไม่มีสิ่งใดที่เกิดโดยปราศจากเหตุปัจจัย และไม่มีสิ่งใดที่เกิดแล้วจะไม่มีการดับ...... จิต หมายถึงธาตุรู้ ๆ  ทุกอย่างตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย......จิต  เป็นธาตุรู้ ๆ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖  ถ้าไม่ได้ยินเสียง  หรือถ้าไม่มีสภาพรู้เสียง  เสียงนั้นก็จะปรากฏไม่ได้เลย


เจตสิก เป็นธาตุรู้  เป็นนามธรรม เป็นธาตุที่มีจริง เกิดพร้อมกับจิตและดับพร้อมกับจิต  เจตสิกเกิดร่วมกับจิตแต่ละขณะอย่างน้อย ๗ ประเภท  เจตสิกรู้อารมณ์เดียวกับจิต เจตสิกเกิดขึ้นทำกิจแตกต่างกัน

รูป  เป็นธาตุที่ไม่รู้อะไร  เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่รู้อะไร  เช่น  เย็น ร้อน อ่อน แข็ง  ไหว ตึง ก็เป็นธาตุเฉพาะอย่าง

ธาตุมีมากมายหลากหลาย แต่เราจะไม่ได้คิดถึงชื่อ  เราคิดถึงความจริงที่สุด ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มีจริงที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ  สิ่งที่มีจริง ๆ  เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปหมดไม่เหลือและไม่กลับมาอีกเลย  ขณะนี้ก็มีธาตุเกิดดับอย่างหลากหลาย  แต่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้  ก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิด  เห็นว่าธาตุเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมากนั้น ว่าเป็นของเที่ยงยั่งยืน  แล้วก็จดจำนิมิตของจิต  จดจำรูปร่างสัณฐานนิมิตของจิต


เพราะฉะนั้น  ตามความจริงที่ถึงที่สุดของความจริงก็คือ  จิต เป็นธาตุรู้  ซึ่งสามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้  เช่น ขณะนี้กำลังมีเห็น  กำลังได้ยิน  กำลังได้กลิ่น  กำลังลิ้มรส กำลังกระทบสัมผัส  กำลังคิดนึก  ซึ่งเป็นความจริงที่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย  เป็น "นิยาม" คือ เป็นความจริงที่จะต้องเป็นเช่นนั้น   จิต ๑ ขณะเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป  เป็นปัจจัยให้จิตดวงอื่นหรือขณะต่อไปเกิดขึ้น  และจิตเกิดขึ้นทุกขณะต้องมีสิ่ง (อารมณ์) ให้จิตรู้เสมอ


                                                       .......................................


                                                   ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์