วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทิฎฐิในชีวิตประจำวัน





ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ทิฎฐิ หมายถึง ความเห็น....ทิฎฐิมี ๒ ประเภท คือ สัมมาทิฎฐิกับมิจฉาทิฎฐิ......ถ้ากล่าวเพียง "ทิฎฐิ" หมายถึงความเห็นผิด (มิจฉาทิฎฐิ)

ทิฎฐิหรือความเห็นผิดซึ่งเกิดขึ้นกับทุกท่าน หรือเกิดกับญาติ มิตร สหายของท่านในชีวิตประจำวัน เพราะว่าสติไม่ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏขณะนี้ตามความเป็นจริง ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจนั้น  เป็นเพียงธาตุรู้  เป็นนามรู้เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

ประโยชน์ของเข้าใจเรื่อง "ทิฎฐิ" ก็เพื่อเกื้อกูลและอนุเคราะห์  ถ้าสามารถที่จะกระทำได้ เพื่อให้เขามีความเห็นถูกต้องขึ้น ตัวอย่าง เช่น บางท่านมีปรกติเจริญสติปัฎฐานในตอนกลางวัน แต่พอตอนกลางคืนว่างจากกิจการงานส่วนตัวแล้ว ก็อยากจะนั่งสมาธิ  ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา

ในชีวิตประจำวันตลอดวันเต็มไปด้วยความนึกคิดวุ่นวายเรื่องต่าง ๆ   ยามว่างจากการงาน ก็อาจจะเป็นเหตุปัจจัยให้นึกถึงการงาน อดีตบ้าง อนาคตบ้าง เรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง เรื่องบุคคลอื่นบ้าง รู้สึกจิตมีแต่ความฟุ้ง จึงทำให้รู้สึกว่าอยากจะทำสมาธิ  ขณะนั่งสมาธิสติไม่เกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง ก็ไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน......อะไรเป็นเหตุปัจจัยทำให้ท่านต้องการที่จะทำสมาธิ ต้องการความสงบให้แก่จิต  คำตอบก็คือ เพราะเหตุว่าขณะนั้นมี "โลภมูลจิต" เกิดขึ้น จึงทำให้มีความพอใจ มีความต้องการที่จะทำสมาธิ หรืออยากจะทำสิ่งอื่นที่ไม่ใช่การระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ตามเหตุตามปัจจัย ตามความเป็นจริง จึงเป็นความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เมื่อมีความเห็นผิดแล้ว การปฏิบัติก็ย่อมผิดด้วย  เพราะฉะนั้น จึงควรตรึกตรองพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังหรือได้ศึกษาให้เข้าใจเสียก่อน แล้วจึงลงมือปฏิบัติ.

                                                   .................................

                                         ขออนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่านด้วยค่ะ