วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

จิตแตกต่างจากความคิดอย่างไร


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นขอให้เข้าใจว่า  ธรรมะ  คือสิ่งที่มีจริงในโลก  และมีสภาพธรรมะที่ต่างกันเป็น ๒ ลักษณะ คือ  ธรรมที่เป็นสภาพรู้  เราเรียกว่า นามธรรม  กับอีกสภาพธรรมหนึ่งที่ไม่รู้อะไร  เราเรียกว่า รูปธรรม.....    อะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม  เช่น  โต๊ะ  เก้าอี้  ตู้  เตียง  สี  เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง  เหล่านี้เป็นลักษณะสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย.....

อะไรบ้างที่เป็นนามธรรม  เป็นสภาพรู้  หรือธาตุรู้......นามธรรม  หรือสภาพรู้  ได้แก่   โกรธ  ดีใจ  เสียใจ  สุข ทุกข์  เมตตา  ง่วง  หิว  อิ่มและคิด  เป็นลักษณะสภาพธรรมที่มีจริง  เป็นนามธรรม   และนามธรรมนี้มี ๒ อย่าง  คือ จิตกับเจตสิก.....คำว่า "เจตสิก"  ก็เป็นคำใหม่สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยฟังธรรมเลย  เจตสิก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดกับจิต  รู้อารมณ์เดียวกับจิต  ดับพร้อมกับจิต  อยู่กับจิต ไม่แยกออกจากจิตเลย  เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า จิตเป็นแต่เพียงสภาพรู้  หรือธาตุรู้  

แต่ว่าจิตมีหลายประเภท   เพราะเหตุว่า เจตสิกที่เกิดกับจิตมีหลายอย่าง  จึงทำให้จิตแตกต่างกันไปเป็นชนิดต่าง ๆ   เช่น  โกรธ  โลภ  เมตตา  ริษยา  เพราะเหตุว่าจิตเป็นประธาน เป็นใหญ่ในการรู้  แต่ว่าจิตจะไม่รู้อะไรทั้งสิ้น คือ จะไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่เมตตา  ไม่อะไรทั้งสิ้น อย่างเช่น  ขณะนี้กำลังเห็น  ที่เห็นขณะนี้เป็นจิต  ๆ  สามารถรู้ความแตกต่างของสิ่งที่ปรากฏทางตา  รู้ว่าคนนี้ไม่ใช่คนนั้น  หรือว่ารู้แม้กระทั่งสิ่งที่เป็นของเทียม หรือของแท้.....จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็นแจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา  ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ  นี่คือลักษณะของจิต

แต่ว่าลักษณะของการจำ  นั่นไม่ใช่จิต เป็นเจตสิก.....เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ชนิด  จึงทำให้จิตต่างกันไปเป็น  ๘๙  ประเภท  ดังนั้น จิตที่คิดไม่ใช่จิตที่เห็น  จิตที่ได้ยินก็ไม่ใช่จิตที่เห็น...... ส่วนจิตที่คิดนั้น  แม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน  ไม่ได้กลิ่น  แต่ก็คิดได้  อย่างเช่น ตอนนอนหลับ แม้ไม่เห็นไม่ได้ยินอะไรเลย  แต่ก็ยังคิดได้  เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นจิตและเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกัน  จะไม่มีจิตเกิดโดยปราศจากเจตสิกเลย  เพราะว่าจิตและเจตสิก เป็นสังขารธรรม คือ สภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น  จะเกิดตามลำพังไม่ได้

แม้แต่รูปก็จะไม่มีสักรูปเดียวที่ไม่มีรูปอื่นเกิดร่วมด้วย  สภาพธรรมใดก็ตาม  เกิดขึ้นจะต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมปรุงแต่ง  เพราะฉะนั้น  ความคิดก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับจิตเห็นและจิตได้ยิน.......นี่ก็เป็นเรื่องของตัวเราทั้งหมด  แต่ว่าเราไม่เคยรู้เลย  จนกว่าเราจะได้ศึกษาธรรมโดยละเอียด  แล้วเราก็จะเห็นความเป็นอนัตตาว่า  ทุกอย่างบังคับบัญชาไม่ได้  อยากจะเห็นแต่ถ้าตาบอดก็เห็นไม่ได้  บางครั้งอยากจะคิดดี  แต่ก็คิดดีไม่ได้  เพราะเหตุว่าบังคับบัญชาไม่ได้  ทุกอย่างเป็นไปตามการสะสมของจิต  แตถ้าสะสมกุศลบ่อย ๆ  และมีปัญญามากขึ้น  ความคิดที่เป็นกุศลก็จะเพิ่มขึ้น และคิดถูกต้องเพิ่มขึ้นด้วย.


                                                          ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                               .................................



วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การทำสมาธิเป็นความสงบหรือไม่

 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บางท่านอาจจะยังเข้าใจไม่ถูกต้อง  เกี่ยวกับเรื่อง "ความสงบของจิต"  จึงได้พยายามเจริญสมาธิ  และเข้าใจว่า  จิตจะต้องตั้งมั่น  อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ขณะนั้นเป็นความสงบ  แต่ท่านไม่ได้เปรียบเทียบเลยว่า  ลักษณะความสงบของจิตนั้น  จะต้องเป็นขณะที่จิตไม่มีความยินดียินร้าย  และต้องประกอบด้วยปัญญา ที่รู้ลักษณะสภาพของความสงบ  ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น  ว่าไม่ใช่สภาพของความติดข้อง ไม่ใช่ความยินดีพอใจในสมาธิ  ที่กำลังจดจ้องในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด

บางท่านก็อาจจะเข้าใจว่า จะต้องไปสู่สถานที่  ที่สงบเงียบโดยเฉพาะ  แล้วความสงบก็จะได้มั่นคงขึ้น  มีแต่ความหวังว่า  จะได้ความสงบมั่นคงยิ่งขึ้น  แต่ลืมไปว่า  ความสงบนั้นจะเกิดขึ้นได้   ก่อนอื่นจะต้องรู้ลักษณะของความสงบเล็ก ๆ น้อย ๆ  ชั่วขณะที่มีในชีวิตประจำวันเสียก่อน  เพื่อที่จะได้เปรียบเทียบ  ลักษณะของกุศลธรรม และอกุศลธรรมว่าต่างกันเสียก่อน

ถ้าอกุศลธรรมกำลังเกิดขึ้นขณะนี้  ท่านจะทำอย่างไร........ จะปล่อยไปหรือว่าท่านจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม  ที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม  ที่กำลังปรากฏขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน....... ในชีวิตประจำวัน  เวลาที่เราถูกยุงหรือมดกัด  แล้วคิดที่จะฆ่า  ขณะนั้นไม่ใช่ความสงบ  เพราะฉะนั้น  การที่จะเจริญความสงบนั้น   ก็จะต้องมีความเข้าใจถูกต้องเสียก่อน....... ถ้าท่านจะเจริญความสงบ  ก็ควรระลึกถึงความสงบในชีวิตประจำวันตามปรกติซึ่งจะมีได้   ก่อนที่จะไปถึงความสงบ  ที่ประกอบด้วยสมาธิถึงขั้นฌานจิต  ซึ่งเป็นความสงบที่มั่นคงมาก  เพราะเหตุว่าจิตขณะนั้น  ประกอบด้วยความสงบและสมาธิที่มั่นคงจริง ๆ

ในชีวิตประจำวัน  ขณะที่ท่านได้ยินได้ฟังเรื่องราว ที่พอใจบ้างหรือไม่พอใจบ้าง  แล้วเล่าสู่มิตรสหายฟัง  ขณะนั้นท่านมีความสงบหรือไม่   ขอให้คิดถึงสภาพของจิตขณะนั้น...... ถ้าเล่าเรื่องร้าย  ขณะนั้นจิต  เต็มไปด้วยอกุศล  แต่ถ้าเล่าเรื่องที่สนุกสนานเฮฮา  ขณะนั้นมีความยินดีพอใจ  จิตก็เต็มไปด้วยโลภะ  แล้วในขณะนั้นจะมีความสงบไหม.....ถ้าท่านต้องการที่จะเจริญกุศล  ไม่เพียงแต่ขั้นทานและ ขั้นศีลเท่านั้น  แต่ต้องการจะเจริญขั้นฌานจิตด้วย  ก็ควรที่จะได้รู้ลักษณะที่แท้จริงของความสงบ  ว่าขณะใดสงบและขณะใดไม่สงบในชีวิตประจำวัน

 ถ้าในชีวิตประจำวัน  ท่านเพิ่มความสงบขึ้น  จนมีหวังที่ว่า  เมื่อระลึกถึงสภาพของจิตที่สงบ และระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิต  เกิดความสงบได้บ่อย ๆ   สมาธิที่ประกอบกับจิตนั้นก็จะมั่นคง  หยั่งลงลึกและดื่มด่ำในความสงบ  ถึงขั้นอุปจารสมาธิและขั้นอัปปนาสมาธิได้  แต่ว่าสมาธิขั้นอุปจารสมาธิและขั้นอัปปนาสมาธิ  ต้องต่างกันกับขณะที่เป็นสมาธิขั้นขณิกสมาธิ...... นี่คือในชีวิตประจำวันจริง ๆ  ซึ่งท่านสามารถที่จะรู้ได้   แม้ความสงบที่เพิ่มกำลังขึ้น และประกอบด้วยสมาธิขั้นใด  ท่านก็จะสามารถรู้ชัดในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า  เป็นสมาธิที่ประกอบด้วยความสงบ  หรือเป็นความสงบที่เพิ่มกำลังของสมาธิขึ้นแล้วตามความเป็นจริง


                                                     ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                       
                                                     ................................................