วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การทำสมาธิเป็นความสงบหรือไม่

 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บางท่านอาจจะยังเข้าใจไม่ถูกต้อง  เกี่ยวกับเรื่อง "ความสงบของจิต"  จึงได้พยายามเจริญสมาธิ  และเข้าใจว่า  จิตจะต้องตั้งมั่น  อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ขณะนั้นเป็นความสงบ  แต่ท่านไม่ได้เปรียบเทียบเลยว่า  ลักษณะความสงบของจิตนั้น  จะต้องเป็นขณะที่จิตไม่มีความยินดียินร้าย  และต้องประกอบด้วยปัญญา ที่รู้ลักษณะสภาพของความสงบ  ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น  ว่าไม่ใช่สภาพของความติดข้อง ไม่ใช่ความยินดีพอใจในสมาธิ  ที่กำลังจดจ้องในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด

บางท่านก็อาจจะเข้าใจว่า จะต้องไปสู่สถานที่  ที่สงบเงียบโดยเฉพาะ  แล้วความสงบก็จะได้มั่นคงขึ้น  มีแต่ความหวังว่า  จะได้ความสงบมั่นคงยิ่งขึ้น  แต่ลืมไปว่า  ความสงบนั้นจะเกิดขึ้นได้   ก่อนอื่นจะต้องรู้ลักษณะของความสงบเล็ก ๆ น้อย ๆ  ชั่วขณะที่มีในชีวิตประจำวันเสียก่อน  เพื่อที่จะได้เปรียบเทียบ  ลักษณะของกุศลธรรม และอกุศลธรรมว่าต่างกันเสียก่อน

ถ้าอกุศลธรรมกำลังเกิดขึ้นขณะนี้  ท่านจะทำอย่างไร........ จะปล่อยไปหรือว่าท่านจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม  ที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม  ที่กำลังปรากฏขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน....... ในชีวิตประจำวัน  เวลาที่เราถูกยุงหรือมดกัด  แล้วคิดที่จะฆ่า  ขณะนั้นไม่ใช่ความสงบ  เพราะฉะนั้น  การที่จะเจริญความสงบนั้น   ก็จะต้องมีความเข้าใจถูกต้องเสียก่อน....... ถ้าท่านจะเจริญความสงบ  ก็ควรระลึกถึงความสงบในชีวิตประจำวันตามปรกติซึ่งจะมีได้   ก่อนที่จะไปถึงความสงบ  ที่ประกอบด้วยสมาธิถึงขั้นฌานจิต  ซึ่งเป็นความสงบที่มั่นคงมาก  เพราะเหตุว่าจิตขณะนั้น  ประกอบด้วยความสงบและสมาธิที่มั่นคงจริง ๆ

ในชีวิตประจำวัน  ขณะที่ท่านได้ยินได้ฟังเรื่องราว ที่พอใจบ้างหรือไม่พอใจบ้าง  แล้วเล่าสู่มิตรสหายฟัง  ขณะนั้นท่านมีความสงบหรือไม่   ขอให้คิดถึงสภาพของจิตขณะนั้น...... ถ้าเล่าเรื่องร้าย  ขณะนั้นจิต  เต็มไปด้วยอกุศล  แต่ถ้าเล่าเรื่องที่สนุกสนานเฮฮา  ขณะนั้นมีความยินดีพอใจ  จิตก็เต็มไปด้วยโลภะ  แล้วในขณะนั้นจะมีความสงบไหม.....ถ้าท่านต้องการที่จะเจริญกุศล  ไม่เพียงแต่ขั้นทานและ ขั้นศีลเท่านั้น  แต่ต้องการจะเจริญขั้นฌานจิตด้วย  ก็ควรที่จะได้รู้ลักษณะที่แท้จริงของความสงบ  ว่าขณะใดสงบและขณะใดไม่สงบในชีวิตประจำวัน

 ถ้าในชีวิตประจำวัน  ท่านเพิ่มความสงบขึ้น  จนมีหวังที่ว่า  เมื่อระลึกถึงสภาพของจิตที่สงบ และระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิต  เกิดความสงบได้บ่อย ๆ   สมาธิที่ประกอบกับจิตนั้นก็จะมั่นคง  หยั่งลงลึกและดื่มด่ำในความสงบ  ถึงขั้นอุปจารสมาธิและขั้นอัปปนาสมาธิได้  แต่ว่าสมาธิขั้นอุปจารสมาธิและขั้นอัปปนาสมาธิ  ต้องต่างกันกับขณะที่เป็นสมาธิขั้นขณิกสมาธิ...... นี่คือในชีวิตประจำวันจริง ๆ  ซึ่งท่านสามารถที่จะรู้ได้   แม้ความสงบที่เพิ่มกำลังขึ้น และประกอบด้วยสมาธิขั้นใด  ท่านก็จะสามารถรู้ชัดในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า  เป็นสมาธิที่ประกอบด้วยความสงบ  หรือเป็นความสงบที่เพิ่มกำลังของสมาธิขึ้นแล้วตามความเป็นจริง


                                                     ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                       
                                                     ................................................