วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

จิตแตกต่างจากความคิดอย่างไร


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นขอให้เข้าใจว่า  ธรรมะ  คือสิ่งที่มีจริงในโลก  และมีสภาพธรรมะที่ต่างกันเป็น ๒ ลักษณะ คือ  ธรรมที่เป็นสภาพรู้  เราเรียกว่า นามธรรม  กับอีกสภาพธรรมหนึ่งที่ไม่รู้อะไร  เราเรียกว่า รูปธรรม.....    อะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม  เช่น  โต๊ะ  เก้าอี้  ตู้  เตียง  สี  เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง  เหล่านี้เป็นลักษณะสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย.....

อะไรบ้างที่เป็นนามธรรม  เป็นสภาพรู้  หรือธาตุรู้......นามธรรม  หรือสภาพรู้  ได้แก่   โกรธ  ดีใจ  เสียใจ  สุข ทุกข์  เมตตา  ง่วง  หิว  อิ่มและคิด  เป็นลักษณะสภาพธรรมที่มีจริง  เป็นนามธรรม   และนามธรรมนี้มี ๒ อย่าง  คือ จิตกับเจตสิก.....คำว่า "เจตสิก"  ก็เป็นคำใหม่สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยฟังธรรมเลย  เจตสิก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดกับจิต  รู้อารมณ์เดียวกับจิต  ดับพร้อมกับจิต  อยู่กับจิต ไม่แยกออกจากจิตเลย  เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า จิตเป็นแต่เพียงสภาพรู้  หรือธาตุรู้  

แต่ว่าจิตมีหลายประเภท   เพราะเหตุว่า เจตสิกที่เกิดกับจิตมีหลายอย่าง  จึงทำให้จิตแตกต่างกันไปเป็นชนิดต่าง ๆ   เช่น  โกรธ  โลภ  เมตตา  ริษยา  เพราะเหตุว่าจิตเป็นประธาน เป็นใหญ่ในการรู้  แต่ว่าจิตจะไม่รู้อะไรทั้งสิ้น คือ จะไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่เมตตา  ไม่อะไรทั้งสิ้น อย่างเช่น  ขณะนี้กำลังเห็น  ที่เห็นขณะนี้เป็นจิต  ๆ  สามารถรู้ความแตกต่างของสิ่งที่ปรากฏทางตา  รู้ว่าคนนี้ไม่ใช่คนนั้น  หรือว่ารู้แม้กระทั่งสิ่งที่เป็นของเทียม หรือของแท้.....จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็นแจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา  ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ  นี่คือลักษณะของจิต

แต่ว่าลักษณะของการจำ  นั่นไม่ใช่จิต เป็นเจตสิก.....เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ชนิด  จึงทำให้จิตต่างกันไปเป็น  ๘๙  ประเภท  ดังนั้น จิตที่คิดไม่ใช่จิตที่เห็น  จิตที่ได้ยินก็ไม่ใช่จิตที่เห็น...... ส่วนจิตที่คิดนั้น  แม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน  ไม่ได้กลิ่น  แต่ก็คิดได้  อย่างเช่น ตอนนอนหลับ แม้ไม่เห็นไม่ได้ยินอะไรเลย  แต่ก็ยังคิดได้  เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นจิตและเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกัน  จะไม่มีจิตเกิดโดยปราศจากเจตสิกเลย  เพราะว่าจิตและเจตสิก เป็นสังขารธรรม คือ สภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น  จะเกิดตามลำพังไม่ได้

แม้แต่รูปก็จะไม่มีสักรูปเดียวที่ไม่มีรูปอื่นเกิดร่วมด้วย  สภาพธรรมใดก็ตาม  เกิดขึ้นจะต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมปรุงแต่ง  เพราะฉะนั้น  ความคิดก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับจิตเห็นและจิตได้ยิน.......นี่ก็เป็นเรื่องของตัวเราทั้งหมด  แต่ว่าเราไม่เคยรู้เลย  จนกว่าเราจะได้ศึกษาธรรมโดยละเอียด  แล้วเราก็จะเห็นความเป็นอนัตตาว่า  ทุกอย่างบังคับบัญชาไม่ได้  อยากจะเห็นแต่ถ้าตาบอดก็เห็นไม่ได้  บางครั้งอยากจะคิดดี  แต่ก็คิดดีไม่ได้  เพราะเหตุว่าบังคับบัญชาไม่ได้  ทุกอย่างเป็นไปตามการสะสมของจิต  แตถ้าสะสมกุศลบ่อย ๆ  และมีปัญญามากขึ้น  ความคิดที่เป็นกุศลก็จะเพิ่มขึ้น และคิดถูกต้องเพิ่มขึ้นด้วย.


                                                          ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                               .................................