วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

ประโยชน์ของการศึกษาเรื่องกรรม


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


สำหรับประโยชน์ในการรู้เรื่องกรรม  การศึกษาพระธรรม การฟังพระธรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิต เรื่องเจตสิก   เรื่องสติปัฏฐานและเรื่องกรรม ก็ย่อมจะต้องได้ประโยชน์ทั้งสิ้น  เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาถึงประโยชน์ของการที่จะเข้าใจเรื่องกรรม ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริง ๆ  ก็จะเห็นได้ว่า เมื่อเราได้รู้ว่าขณะใดเป็นอกุศลกรรม ก็จะได้เว้นสิ่งนั้น  และรู้ว่าสิ่งใดเป็นกุศล ก็จะได้เจริญกุศลกรรมยิ่งขึ้น ตัวอย่าง เช่น เจตนาฆ่า เจตนาเบียดเบียน ทั้งหมดนี้เป็นอกุศล ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นบิดามารดาหรือไม่ใช่บิดามารดา ผู้ที่ใกล้ชิด หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยก็ตาม ก็จะทำให้ละเว้นอกุศลกรรมกับทุกบุคคล  แม้กระทั้งกับสัตว์  เราก็จะไม่คิดแม้แต่จะเบียดเบียนเขา  อาหารที่ไม่บริโภค เป็นของเหลือแล้วหรือเตรียมจะทิ้งแล้ว  แต่ก็เกิดเจตนาที่เป็นกุศล แทนที่จะทิ้งก็นำไปให้สัตว์กิน  นี่เรียกว่า  รู้ว่าขณะใดเป็นกุศลจิต  ขณะใดเป็นกุศลกรรม  ก็ย่อมสามารถที่จะกระทำกุศลกรรมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการรู้เรื่องกรรมและเข้าใจจริง ๆ ก็จะทำให้อกุศลกรรมลดน้อยลง และกุศลกรรมเจริญขึ้น

นอกจากนั้น ยังเป็นประโยชน์ในการเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะใดเป็นกรรม ซึ่งเป็นเหตุและในขณะใดเป็นวิบากซึ่งเป็นผล  จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่์สัตว์  ไม่ใช่บุคคล  เช่น ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด   ก็รู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นผลของกรรม เป็นวิบาก  ขณะใดที่จิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส  ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นอกุศลจิต เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง  ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  แม้สภาพธรรมที่เป็นกุศล ก็ไม่ติดว่าเป็นกุศลของเรา  เพราะเหตุว่ากุศลกรรมก็เป็นเพียงนามธรรมซึ่งเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป  การอบรมเจริญปัญญาจนสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริง  จะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

นี่คือประโยชน์ในการที่จะเข้าใจเรื่องของกรรมละเอียดขึ้น  มิฉะนั้นแล้ว ก็ยังเป็นตัวตนอยู่ว่า เป็นกรรมของเรา หรือเราทำกรรม หรือว่าเป็นวิบากของเรา  แต่ว่าตามความจริงแล้ว ไม่มีสภพธรรมใดเลยทั้งสิ้นซึ่งจะพึงยึดถือว่า เป็นของเราได้  บางคนอาจคิดว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้  ขณะนั้นเป็นเราจริง ๆ ที่กำลังคิด  และเมื่อได้รับผลจากความคิดที่จะกระทำสิ่งนั้น  ก็คิดว่าเป็นเราที่ได้รับผลของสิ่งที่เราคิด  แต่เมื่อมีเราคิด ก็ตองมีผลของการกระทำของเราด้วย

เพราะฉะนั้น  ถ้ารู้ว่าไม่ใช่เราที่คิด  คิดเป็นชั่วขณะหนึ่ง เห็นเป็นอีกขณะหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นจะเป็นผลของขณะที่คิดได้ไหม  ถ้าสติปัฏฐานเกิดจริง ๆ  จะรู้ได้ทีเดียวว่าไม่ใช่  เพระเหตุว่าขณะที่เห็น  ขณะที่ได้ยิน ต้องเป็นวิบาก  สรุปแล้วสภาพธรรมต่าง ๆ  ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้นและกาย เป็นวิบากทั้งสิ้น


                                                     ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                  ....................................................