ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น |
ชีวิตคนเราวันหนึ่ง ๆ เต็มไปด้วยอกุศล แต่ส่วนใหญ่เราจะไม่รู้ลักษณะ ความแตกต่างของกุศลและอกุศล
มักจะกระทำอกุศลกรรมอยู่บ่อย ๆ เพราะเหตุว่าเข้าใจผิด คิดว่าอกุศลเป็นกุศล ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คิด"อยากจะทำบุญ" มาก ๆ เพื่อที่จะได้มีบุญมาก ๆ นี่ก็เห็นแล้วว่า มีความติดข้อง ต้องการในบุญ....ความติดข้อง ต้องการ ยินดี พอใจ อยากได้ อยากมี เหล่านี้เป็นลักษณะของ "โลภะ" เป็นกิเลส ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล....
แต่ถ้าคิดว่า "จะทำบุญ" ขณะนั้นจิตเป็นกุศลแล้ว เพราะเหตุว่าจิตขณะนั้น ไม่ประกอบด้วยโลภะ.....จะเห็นได้ว่า ธรรมะเป็นเรื่องละเอียดและตรง ดังนั้น จึงต้องค่อย ๆ สะสมความรู้ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งจิต ให้เป็นกุศลเพิ่มยิ่ง ๆ ขึ้น จนกว่าจะเป็นปัญญาของตนเอง
ท่านทราบไหม "โทสะ" มีลักษณะอย่างไร
ลักษณะหรือธรรมชาติของโทสะ ได้แก่ ความไม่พอใจ เสียใจ น้อยใจ ขุ่นเคืองใจ หงุดหงิด กังวล หรือพูดง่าย ๆ ว่า ความไม่สบายใจทั้งหมด เป็นโทสะ เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยปฏิฆะ.....คำว่า "ปฏิฆะ" หมายถึง การกระทบกระทั่ง ทำให้เกิดความไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น โทสะกับปฏิฆะ จึงเป็นสภาพธรรมประเภทเดียวกัน
การที่เราจะทราบได้ว่า จิตเป็นอกุศลประเภทใด ก็จะต้องสังเกตที่ "ความรู้สึก" (เวทนา) ถ้าขณะนั้นมีความรู้สึกไม่สบายใจ ขณะนั้นจะทราบได้ว่า จิตเป็น "โทสมูลจิต" เท่านั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และสติสัมปชัญญะจะทำหน้าที่ ระลึกรู้สภาพของจิตที่เบาหรือหนัก ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลต้องเบา ไม่ติดข้อง ต้องการ ยินดี พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว และความนึกคิดในขณะนั้น กุศลจิตต้องเป็นสภาพที่เหมือนปล่อยวาง
ขณะนี้ ท่านผู้อ่านมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง หนักหรือเบาคะ มีความติดข้อง ต้องการในสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือเปล่า สังเกตแล้วหรือยัง ต้องสังเกตความรู้สึกด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะรู้ได้ว่า จิตขณะนั้นมีลักษณะอย่างไร....สรุปโดยย่อ ๆ การสังเกตลักษณะของโทสะ "ความรู้สึกดุร้ายและความไม่สบายใจทั้งหมดเป็น โทสมูลจิต"
..................................
ขออนุโมทนาบุญ