ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น |
การสอนพระธรรมแบบผิด ๆ เป็นโทษ....... ถ้าผู้ที่สอนเข้าใจว่า คำที่สอนนั้นเป็นคำสอนที่ถูกต้อง และผู้สอนก็เป็นผู้ที่มีเมตตาปรารถนาดี จึงได้สอน......อันนี้ก็จะต้องพิจารณาขณะจิตด้วยว่า ขณะที่ปรารถนาดีนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ขณะที่เข้าใจธรรมผิด ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นมโนกรรม ถ้าเข้าใจธรรมผิด เพราะฉะนั้นไม่ได้อยู่แค่ความเข้าใจผิดของตนเองเพียงผู้เดียวเท่านั้น ยังขยายไปสู่บุคคลอื่น ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดอีกด้วย
ขณะที่สอนหรือพูดธรรมผิด ๆ ก็เป็นมโนกรรมทาง "วจีทวาร" เป็นอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องขึ้นอยู่ที่ผู้ฟังด้วย ที่จะช่วยผู้พูดธรรมไม่ให้ได้รับโทษมาก ก็คือ ต้องพิจารณาสิ่งที่ได้ฟัง แล้วเลือกเชื่อแต่สิ่งที่ถูกต้อง อันนี้ก็จะเป็นหนทางที่จะช่วยผู้พูดธรรมที่คาดเคลื่อนหรือที่เข้าใจผิด ๆ เพราะเหตุว่า เรื่องของวจีกรรมนี้ ถ้าได้กล่าวออกไปแล้ว โทษมากหรือโทษน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับการทำลายประโยชน์ เมื่อผู้ฟังเกิดความเชื่อมากเสียประโยชน์มาก ก็เป็นโทษมาก แต่ถ้าเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ก็พิจารณาในเหตุในผล แล้วก็เลือกเชื่อในสิ่งที่มีเหตุมีผล สิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลก็ไม่เชื่อ
ผู้ที่มีความเห็นผิด พูดผิดหรือกล่าวผิด ก็จะเป็นผู้ได้รับโทษจากการกล่าวผิดหรือพูดผิดแต่เพียงผู้เดียว แต่ถ้าผู้ฟังพิจารณามีเหตุมีผล แล้วเลือกเชื่อในสิ่งที่มีเหตุมีผลถูกต้อง ก็จะเป็นการช่วยบรรเทาหรือลดโทษแก่ผู้เห็นผิดหรือพูดผิดได้ เช่นเดียวกับเรื่อง "มุสาวาท" ถ้าใครพูดไม่จริง ทำให้ผู้อื่นเชื่อผิด ๆ เกิดความเข้าใจผิดเสียหายมาก ก็เป็นโทษมาก แต่ถึงแม้ว่าเขาจะพูดเรื่องไม่จริงก็ตาม ถ้าผู้ฟังไม่เชื่อ โทษของผู้พูดไม่จริง ก็น้อยกว่าการที่ทำให้คนเชื่อผิด ๆ
ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์
...........................................