วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จิตที่มีโทษมาก

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ท่านทราบไหมว่า เราศึกษาธรรมเพื่ออะไร....เราศึกษาธรรม ก็เพื่อที่จะละจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด  ซึ่งเป็นจิตอกุศลที่มีโทษมาก  ในชีวิตประจำวันของทุกคนจิตก็จะเป็นในรูป เสียง กลิ่น รส  เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว และความคิดนึก เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่จิตที่ได้ฌาน หรือจิตระดับฌานจิต ยังเป็นจิตที่มีความติดข้อง ต้องการ ยินดีอยู่ในกามรมณ์ จึงเรียกว่า กามาวจรจิต

ในวันหนึ่ง ๆ  เรามีความเห็นผิดอย่างไรบ้าง ทุกคนควรที่จะทราบด้วยตนเอง ว่าทำไมจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดจึงมีโทษมาก...บางทีก็อาจจะเข้าใจว่า ตนไม่มีความเห็นผิดอะไรเลย  ก็ขอให้ทราบว่า ความเห็นผิด (ทิฏฐิ)  นี้มีชนิดตั้งแต่หยาบ ๆ จนกระทั่งถึงชนิดละเอียด  ถ้าเราไม่เป็นผู้ที่ละเอียดรอบครอบ ก็จะไม่รู้ตัวเลยว่า เป็นผู้มีความเห็นผิด

ถ้ามีความเห็นไม่ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมจริง ๆ แล้ว  ก็ต้องเป็นความเห็นผิด  เราต้องเป็นผู้ตรงและต้องทำความเห็นให้ตรงด้วย  เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมี ๒ อย่าง คือ ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ที่เป็นอกุศล กับความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นกุศล.....ผู้ที่มีความรอบครอบ  พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมแล้ว เป็นผู้ตรง  คือ เห็นผิดก็คือเห็นผิด  เห็นถูกก็คือเห็นถูก  ผู้นั้นย่อมสามารถที่จะลดความเห็นผิดลงได้ตามกำลังของปัญญา

ทุกคนมีความเห็นผิดสะสมไว้มาก บางครั้งเป็นผู้เชื่่อง่าย ใครชักชวนให้ไปทำอะไรก็ทำ โดยไม่่ได้คิดพิจารณาไตร่ตรองถึงเหตุผล ว่าตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ ในที่สุดก็จะเป็นผู้มีความโน้มเอียงไปในทางเห็นผิดได้.....ผู้ที่จะเป็นอริยบุคคลขั้นต้น คือพระโสดาบันบุคคล  จะต้องละความเห็นผิดก่อนที่จะดับกิเลสทั้งหมดได้  จะต้องดับ "โลภะมูลจิต" ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด  หรือกล่าวอีกอย่างว่า "ดับทิฏฐิ"  ถ้ายังไม่ใช่อริยบุคคลก็ยังต้องมีความเห็นผิดอยู่  แต่ก็ไม่ค่อยรู้ตัว  เพราะฉะนั้น ควรฟังธรรมให้เข้าใจเพื่อเป็นปัญญาที่จะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง.

                                         
                                          .........................................

                                                
                                                  ขออนุโมทนาบุญค่ะ