วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

ประโยชน์ของการศึกษาเรื่องกรรม


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


สำหรับประโยชน์ในการรู้เรื่องกรรม  การศึกษาพระธรรม การฟังพระธรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิต เรื่องเจตสิก   เรื่องสติปัฏฐานและเรื่องกรรม ก็ย่อมจะต้องได้ประโยชน์ทั้งสิ้น  เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาถึงประโยชน์ของการที่จะเข้าใจเรื่องกรรม ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริง ๆ  ก็จะเห็นได้ว่า เมื่อเราได้รู้ว่าขณะใดเป็นอกุศลกรรม ก็จะได้เว้นสิ่งนั้น  และรู้ว่าสิ่งใดเป็นกุศล ก็จะได้เจริญกุศลกรรมยิ่งขึ้น ตัวอย่าง เช่น เจตนาฆ่า เจตนาเบียดเบียน ทั้งหมดนี้เป็นอกุศล ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นบิดามารดาหรือไม่ใช่บิดามารดา ผู้ที่ใกล้ชิด หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยก็ตาม ก็จะทำให้ละเว้นอกุศลกรรมกับทุกบุคคล  แม้กระทั้งกับสัตว์  เราก็จะไม่คิดแม้แต่จะเบียดเบียนเขา  อาหารที่ไม่บริโภค เป็นของเหลือแล้วหรือเตรียมจะทิ้งแล้ว  แต่ก็เกิดเจตนาที่เป็นกุศล แทนที่จะทิ้งก็นำไปให้สัตว์กิน  นี่เรียกว่า  รู้ว่าขณะใดเป็นกุศลจิต  ขณะใดเป็นกุศลกรรม  ก็ย่อมสามารถที่จะกระทำกุศลกรรมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการรู้เรื่องกรรมและเข้าใจจริง ๆ ก็จะทำให้อกุศลกรรมลดน้อยลง และกุศลกรรมเจริญขึ้น

นอกจากนั้น ยังเป็นประโยชน์ในการเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะใดเป็นกรรม ซึ่งเป็นเหตุและในขณะใดเป็นวิบากซึ่งเป็นผล  จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่์สัตว์  ไม่ใช่บุคคล  เช่น ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด   ก็รู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นผลของกรรม เป็นวิบาก  ขณะใดที่จิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส  ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นอกุศลจิต เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง  ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  แม้สภาพธรรมที่เป็นกุศล ก็ไม่ติดว่าเป็นกุศลของเรา  เพราะเหตุว่ากุศลกรรมก็เป็นเพียงนามธรรมซึ่งเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป  การอบรมเจริญปัญญาจนสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริง  จะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

นี่คือประโยชน์ในการที่จะเข้าใจเรื่องของกรรมละเอียดขึ้น  มิฉะนั้นแล้ว ก็ยังเป็นตัวตนอยู่ว่า เป็นกรรมของเรา หรือเราทำกรรม หรือว่าเป็นวิบากของเรา  แต่ว่าตามความจริงแล้ว ไม่มีสภพธรรมใดเลยทั้งสิ้นซึ่งจะพึงยึดถือว่า เป็นของเราได้  บางคนอาจคิดว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้  ขณะนั้นเป็นเราจริง ๆ ที่กำลังคิด  และเมื่อได้รับผลจากความคิดที่จะกระทำสิ่งนั้น  ก็คิดว่าเป็นเราที่ได้รับผลของสิ่งที่เราคิด  แต่เมื่อมีเราคิด ก็ตองมีผลของการกระทำของเราด้วย

เพราะฉะนั้น  ถ้ารู้ว่าไม่ใช่เราที่คิด  คิดเป็นชั่วขณะหนึ่ง เห็นเป็นอีกขณะหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นจะเป็นผลของขณะที่คิดได้ไหม  ถ้าสติปัฏฐานเกิดจริง ๆ  จะรู้ได้ทีเดียวว่าไม่ใช่  เพระเหตุว่าขณะที่เห็น  ขณะที่ได้ยิน ต้องเป็นวิบาก  สรุปแล้วสภาพธรรมต่าง ๆ  ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้นและกาย เป็นวิบากทั้งสิ้น


                                                     ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                  ....................................................






วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

มโนกรรมไม่ใช่เพียงแค่คิดในใจ


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องของมโนกรรม ไม่ใช่เพียงแค่คิดอยู่ในใจ  คิดไปทั้งวัน ถ้าไม่ได้กระทำกรรมตามที่คิดก็ไม่สำเร็จ เช่น อยากจะได้ของคนอื่น แล้วก็นึกอยู่ในใจ ของนั้นก็จะมาเป็นของท่านไม่ได้เลย

มโนกรรมจะสำเร็จได้ ก็จะต้องมีการล่วงออกไปทางกาย หรือทางวาจา  แต่ว่าสำหรับการกระทำทางกายที่ไม่เป็นมโนกรรมก็มี  คือเป็นแต่เพียงกายกรรมเท่านั้น  เช่น เดินไปเห็นผลไม้หล่นอยู่ใต้ต้น เกิดความอยากได้โดยไม่คิดมาก่อน  แล้วก็หยิบเอาผลไม้นั้นไป  ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม  แต่ไม่เป็นมโนกรรม

เพราะฉะนั้น กายกรรมไม่เป็นมโนกรรม  วจีกรรมไม่เป็นมโนกรรม  ที่แสดงเรื่องของกรรม ๓  (กายกรรม  วจีกรรม  มโนกรรม) ก็เพื่อที่จะแยกให้เห็นว่า  กายกรรมไม่ใช่มโนกรรม  วจีกรรมไม่ใช่มโนกรรม

แต่สำหรับมโนกรรมที่เป็นมโนกรรม โดยคิดอยู่ในใจเฉย ๆ ไม่ได้ล่วงไปทางกาย ทางวาจานั่น  ไม่สามารถที่จะสำเร็จลงไปได้  แต่ว่าต่างกับกายกรรมและวจีกรรม  ถ้าทางมโนกรรมมีความตั้งใจเกิดขึ้นทางใจก่อน  จึงจะจัดว่าเป็นมโนกรรม

ถ้าโกรธคนหนึ่งแล้วก็คิดที่จะฆ่าคนนั้น  แล้วก็จ้างให้คนอื่นไปฆ่าคนนั้น  ขณะนั้นการฆ่าที่สำเร็จลงไปเป็นมโนกรรม  แม้ว่าเป็นปาณาติบาตซึ่งเป็นข้อของกายกรรมก็จริง  แต่กรรมนั้นสำเร็จลง เพราะมโนกรรม  ไม่ใช่เพียงกายกรรม

แต่ถ้าโกรธระงับไม่อยู่ เลยเกิดประทุษร้ายคนนั้น แล้วคนนั้นตาย  ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม  ซึ่งไม่มีความผูกพยาบาทคิดมาก่อนเลยว่า ต้องการที่จะฆ่าคนนั้น  แต่เกิดบันดาลโทสะ หรือป้องกันตัวหรืออะไรก็ตาม  แต่ซึ่งทำให้บุคคลนั้นตายไป  ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ซึ่งไม่ใช่มโนกรรม

เพราะฉะนั้น  องค์ของมโนกรรมก็ดี หรือองค์ของกายกรรม  วจีกรรมก็ดี เป็นการแสดงให้เห็นว่า  ผลที่เกิดขึ้นจากกาย จากวาจานั้น ๆ  เป็นกายกรรม หรือว่าเป็นมโนกรรม.


                                                     ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                        ...........................................












วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

กุศลกรรมหรือกุศลวิบาก


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


สำหรับทางฝ่ายกุศลกรรม  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรม ที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ก็วิบากนั่นแลย่อมเกิดในปัจจุบัน ในอัตภาพถัดไป หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวการทำที่สุดทุกข์แห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น สมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร  มีสุขเป็นวิบาก  สมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก สมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก

ทางฝ่ายกุศล ก็ให้ผลตามกาละ คือ อาจจะเป็นในปัจจุบันชาติ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อ ๆ ไปได้

สำหรับการรับผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรม ในกามภูมิ ๑๑ ภูม คือ ในอบายภูมิ ๔ ได้แก่  นรก๑ เดรัจฉาน ๑  เปรต๑  อุสรกาย๑  และในสุคติภูมิ ๗  คือ ใน มนุษย์๑  ในสวรรค์ ๖ ชั้น

ผลของกรรมที่จะได้รับ  บางครั้งอาจจะแม้นเหมือนกับกรรมที่ได้กระทำแล้ว  แต่ว่าบางครั้งก็ไม่แม้นเหมือนกับกรรมที่ได้กระทำแล้ว  เพราะเหตุว่า โลกย่อมเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ สมัยก่อนไม่มีรถยนต์ ไม่มีการขับรถชนคนตาย  แต่ก็มีเจตนาที่จะเบียดเบียน ที่จะประทุษร้าย  แต่วัตถุเครื่องใช้ในแต่ละสมัยย่อมต่างกัน

เพราะฉะนั้นผลของกรรมที่จะได้รับในแต่ละยุค ในแต่ละสมัยย่อมแม้นเหมือนกับกรรมที่ได้กระทำแล้วบ้าง และไม่แม้นเหมือนกับกรรมที่ได้กระทำแล้วบ้าง

อย่างผลของกุศลวิบากในแต่ละประเทศก็ย่อมจะต่างกัน  รสของผลไม้อร่อย ๆ ในเมืองร้อนกับในเมืองหนาวก็ต่างกัน   แต่เมื่อเป็นผลของกุศลวิบาก  ก็ย่อมจะได้รับผลที่น่าพอใจ  แต่ว่าผลที่น่าพอใจจะเป็นรสผลไม้ชนิดใด  ในกาลไหนก็ย่อมแล้วแต่ทวารและอารมณ์ที่จะเกิดขึ้น  ซึ่งเหมาะควรแก่กรรมนั้น ๆ

หรือแม้แต่ในสวรรค์ อารมณ์ทั้งหลายประณีตกว่าในมมนุษย์  แต่ก็เป็นผลของกุศลกรรม  ในมนุษย์ภูมิก็มีอารมณ์ที่ประณีต  เมื่อเป็นผลของกุศลด้วย  แต่ก็จะเห็นได้ว่า ผลของกุศลในมนุษย์กับผลของกุศลในสวรรค์  ย่อมต่างกันไปตามควรแก่ทวาร และอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้น ๆ  เพราะกรรมนั้น ๆ

แต่ให้ทราบว่า ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม  ย่อมทำให้ได้รับกระทบอารมณ์ที่น่าพอใจทางตา ทางหู  ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย  แต่ไม่เที่ยง  เพราะฉะนั้น ชั่วขณะเล็กน้อยที่ได้รับผลของกุศลกรรมแล้วก็หมดไป  แล้วก็ย่อมจะได้รับผลของอกุศลกรรม  เมื่อถึงโอกาสที่อกุศลกรรมจะให้ผล.


                                                   ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                    ............................................







วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

ผลของกรรมมี นรกสวรรค์มี



 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอกล่าวถึง กรรมสูตรที่ ๑ ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิกาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผลของกรรมมี และนรกสวรรค์มี

ข้อความในอังคุตตรนิกาย  ทสกนิบาต  กรรมสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๙๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรม ที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น

นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า  พระผู้มีพระภาคเองตรัสว่า  เราไม่รู้แล้ว  ย่อมไม่กล่าว  แต่เพราะเหตุว่า ทรงรู้ว่า  ความสิ้นสุดแห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้นมี

ทุกคนอาจจะคิดว่า  ในชีวิตของแต่ละท่าน วันหนึ่ง ๆ ก็ไม่ได้กระทำกรรมอะไร  แล้วทำไมสังสารวัฏถึงจะมียืดยาวออกไปอย่างไม่สิ้นสุด  ก็ดูวันนี้เหมือนกับว่าไม่ได้กระทำกรรมอะไร   แล้วจะมีเหตุปัจจัยอะไรที่จะทำให้ต้องเกิดอีก ตายอีก  เกิดอีก  ตายอีก ไม่สิ้นสุด......กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้ว ที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสม

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ในชีวิตประจำวัน  ถ้าคิดว่าไม่ได้กระทำกรรม  แต่ความจริงได้กระทำแล้ว บางอย่างเป็นกายกรรม  บางอย่างเป็นวจีกรรม  บางอย่างเป็นมโนกรรมที่ตั้งใจกระทำ  แล้วก็ไม่สูญหาย กรรมทุกกรรมที่ได้กระทำแล้ว  เกิดดับสะสมสืบต่ออยู่ในจิต  เป็นเหตุที่จะให้วิบากเกิดขึ้น  ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรม ที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น

ถ้าวิบากยังไม่เกิด  กรรมจะสิ้นสุดได้ไหม  เหตุมีแล้ว  ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง  ทางใจบ้าง สั่งสมไปเรื่อย ๆ  และถ้าผลคือวิบากของกรรมนั้นยังไม่เกิด จะถือว่ากรรม คือ ความตั้งใจกระทำ กายกรรมบ้าง วจีกรรมบ้างเหล่านั้นที่สั่งสมอยู่ในจิต  จะหมดสิ้นไปได้ไหม.......ในเมื่อผลยังไม่เกิดขึ้น  กรรมจะหมดสิ้นไปไม่ได้เลย......เมื่อเหตุ คือกรรมที่ได้กระทำและสั่งสมแล้ว  ทุกคนก็ต้องคอยรับวิบาก  คือ ผลของกรรมนั้น ๆ โดยไม่รู้ตัวเลย  ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึก ไม่พิจารณาว่า  ได้กระทำอกุศลกรรมอะไรแล้วบ้าง  หรือว่าได้กระทำกุศลกรรมอะไรแล้วบ้าง

นี่เป็นเหตุที่ทุกท่าน จะต้องพิจารณากาย  วาจา  ใจของตนเองอย่างละเอียดจริง ๆ  เพราะเหตุว่าเป็นความตั้งใจที่กระทำกรรม ที่สั่งสมเพื่อที่จะให้วิบากเกิดขึ้น  จึงเป็นเหตุให้สังสารวัฏไม่หมดสิ้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็วิบากนั้นแล  อันสัตว์ผู้ทำ  พึงได้เสวยในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมเวทนียะ) ในอัตภาพถัดไป (อุปปัชชเวทนียะ)  หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไป (อปราปรเวทนียะ)

เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะกระทำอกุศลกรรม  แล้วก็คิดว่ายังไม่ได้รับผลของอกุศลกรรม  สบายดี  พ้นเคราะห์พ้นกรรม  แต่ความจริงไม่พ้น เพราะเหตุว่าวิบากนั้นแล  อันสัตว์ผู้ทำ พึงได้เสวย คือทำให้เกิดผล ได้รับวิบากในปัจจุบัน  หรือในอัตภาพถัดไป คือในชาติหน้า หรือในอัตภาพต่อ ไป  เหมือนอย่างในชาตินี้ จะได้รับผลของอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมก็ตามแต่  เป็นผลของกรรมที่ได้สั่งสมมาแล้วในสังสารวัฏ  อาจจะเป็นกรรมในชาตินี้  หรือกรรมในชาติก่อน หรือกรรมในชาติก่อน ๆ โน้นก็ได้.


                                                    ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                      ...............................................









วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

โทษจากการสอนพระธรรมแบบผิด ๆ



 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การสอนพระธรรมแบบผิด ๆ  เป็นโทษ....... ถ้าผู้ที่สอนเข้าใจว่า คำที่สอนนั้นเป็นคำสอนที่ถูกต้อง และผู้สอนก็เป็นผู้ที่มีเมตตาปรารถนาดี จึงได้สอน......อันนี้ก็จะต้องพิจารณาขณะจิตด้วยว่า  ขณะที่ปรารถนาดีนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง  แต่ขณะที่เข้าใจธรรมผิด ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นมโนกรรม ถ้าเข้าใจธรรมผิด เพราะฉะนั้นไม่ได้อยู่แค่ความเข้าใจผิดของตนเองเพียงผู้เดียวเท่านั้น  ยังขยายไปสู่บุคคลอื่น  ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดอีกด้วย

ขณะที่สอนหรือพูดธรรมผิด ๆ  ก็เป็นมโนกรรมทาง "วจีทวาร"  เป็นอกุศลกรรม  เพราะฉะนั้นก็ต้องขึ้นอยู่ที่ผู้ฟังด้วย  ที่จะช่วยผู้พูดธรรมไม่ให้ได้รับโทษมาก  ก็คือ ต้องพิจารณาสิ่งที่ได้ฟัง แล้วเลือกเชื่อแต่สิ่งที่ถูกต้อง  อันนี้ก็จะเป็นหนทางที่จะช่วยผู้พูดธรรมที่คาดเคลื่อนหรือที่เข้าใจผิด ๆ  เพราะเหตุว่า เรื่องของวจีกรรมนี้  ถ้าได้กล่าวออกไปแล้ว โทษมากหรือโทษน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับการทำลายประโยชน์  เมื่อผู้ฟังเกิดความเชื่อมากเสียประโยชน์มาก ก็เป็นโทษมาก แต่ถ้าเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ก็พิจารณาในเหตุในผล แล้วก็เลือกเชื่อในสิ่งที่มีเหตุมีผล สิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลก็ไม่เชื่อ

 ผู้ที่มีความเห็นผิด พูดผิดหรือกล่าวผิด ก็จะเป็นผู้ได้รับโทษจากการกล่าวผิดหรือพูดผิดแต่เพียงผู้เดียว แต่ถ้าผู้ฟังพิจารณามีเหตุมีผล แล้วเลือกเชื่อในสิ่งที่มีเหตุมีผลถูกต้อง  ก็จะเป็นการช่วยบรรเทาหรือลดโทษแก่ผู้เห็นผิดหรือพูดผิดได้  เช่นเดียวกับเรื่อง "มุสาวาท"  ถ้าใครพูดไม่จริง ทำให้ผู้อื่นเชื่อผิด ๆ เกิดความเข้าใจผิดเสียหายมาก ก็เป็นโทษมาก  แต่ถึงแม้ว่าเขาจะพูดเรื่องไม่จริงก็ตาม  ถ้าผู้ฟังไม่เชื่อ โทษของผู้พูดไม่จริง ก็น้อยกว่าการที่ทำให้คนเชื่อผิด ๆ


                                                          ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                              ...........................................





วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

กรรมเป็นเรื่องละเอียด



ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดจริง ๆ และก็ต้องพิจารณามาก ๆ  เพราะเหตุว่า เรื่องกรรมไม่ใช้วิสัยของคนทั่ว ๆ ไป ที่จะเข้าใจได้ถ่องแท้โดยละเอียดได้....ควรทราบว่า กรรมไม่ใช่จิต กรรมเป็นเจตสิก  ถ้าจะกล่าวอย่างกว้าง ๆ  กรรมก็ได้แก่ จิตที่เกิดร่วมกับอกุศลเจตนาเจตสิกหรือกุศลเจตนาเจตสิก

ถ้าพูดอย่างกว้าง ๆ ก็คือ อกุศลจิต  แต่ถ้าพูดโดยเจาะจง ก็ต้องหมายถึงเฉพาะเจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต ในกรรมบถ ๑๐ เช่น กายกรรม ๓  ได้แก่ ปาณาติบาต ๑   อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ ........วจีกรรม มี ๔ ได้แก่ มุสาวาท ๑  ผรุสวาจา ๑  ปิสุณาวาจา ๑  สัมผัปปลาปวาจา ๑......มโนกรรม  มี ๓ ได้แก่ อภิชฌา ๑  พยาปาท ๑  มิจฉาทิฏฐิ ๑ 

การฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ในขณะที่กระทำปาณาติบาตนั้นต้องมีพยาปาท  ต้องมีความไม่พอใจ มีความโกรธอย่างรุนแรงมาก จนกระทั่งสามารถลงมือกระทำการฆ่าได้  เพราะฉะนั้นสภาพของจิตซึ่งประกอบด้วยโทสะ ก็จะต้องมีกำลังมากในขณะนั้น  จึงเป็นกายกรรม และขณะนั้นกายกรรมจะปราศจากพยาปาทไม่ได้เลย

ความโกรธเป็นพยาปาท  ขณะนั้นเป็นมโนกรรม  แต่ถ้าจะพิจารณาสภาพของความโกรธหรือความผูกโกรธ ที่เป็นโทสะที่มีกำลังมาก ก็ใช้คำว่า "พยาปาท" ได้  ก็เช่นเดียวกับโลภะ ซึ่งเป็นสภาพที่ต้องการอารมณ์ ยึด ติด พอใจ ติดข้อง ไม่สละอารมณ์ที่กำลังปรากฏ  ขณะที่กำลังมีความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ขณะนั้นเป็น "โลภมูลจิต"  แต่ว่ายังไม่ใช่ทุจริต เพราะเหตุว่าเป็นเพียงแต่ความชอบ ความคิด การไม่สละ

 แต่ถ้าเมื่อใดที่มีความคิดเพ่งเล็ง ต้องการอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด  ซึ่งเป็นทุจริตและมีการถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน  นั่นก็เป็นอกุศลกรรมที่เป็นอทินนาทาน  แต่ว่าในขณะนั้นต้องพิจารณาว่ามีอภิชฌาหรือไม่   ต้องมีอภิชฌาแน่นอน เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความต้องการหรือไม่สละในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ  แต่ยังถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตนด้วย

การใช้คำว่า อภิชฌา หรือจะใช้คำว่า โลภะก็ได้  เช่นเดียวกับคำว่า โทสะ จะใช้คำว่า พยาปาทก็ได้เช่นกัน  ส่วนการที่จะพิจารณาว่าเป็นกรรมทางใดนั้น ก็จะต้องมีความละเอียดกว่านั้น


                                                    ..............................................................


                                                         ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์





วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

ความสงสัยในขันธ์


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มีความสงสัยในขันธ์หรือความไม่รู้ในขันธ์  เพราะเหตุว่าขณะนี้ เรารู้จักแต่ชื่อขันธ์  แต่ว่าลักษณะของขันธ์  เราก็อาจจะบอกว่า ปรมัตถธรรมมี ๔..... ส่วนจิต เจตสิก รูป เป็นขันธ์ ๕   เราก็รู้จักแต่ชื่อ  แต่จริง ๆ แล้วลักษณะของขันธ์ คือสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ โดยปรมัตถธรรม ๔ ทรงแสดงไว้เพียง ๔  แต่ว่าย่อลงไปกว่านั้นอีกก็คือ  นามธรรมกับรูปธรรม   ขณะนี้ถ้าเราจะเริ่มต้นปัญญาจริง ๆ  โดยที่เรายังไม่ต้องรู้เรื่องขันธ์ก็ได้  เพราะว่าขันธ์มีตั้ง ๕  แล้วก็ปรมัตถธรรมอีกตั้ง ๔

เพราะฉะนั้น ถ้ารู้จริง ๆ ว่า มีสภาพธรรมที่ต่างกันโดยเด็ดขาด ๒ อย่าง คือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ กับสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม  เพียงแค่นี้  เราก็พิจารณาว่าจริงไหม ไม่ว่าที่ไหนในโลก เดี๋ยวนี้หรือว่าอดีต อนาคต หรือว่าต่อไป หรือว่าจะเป็นโลกไหนก็ตาม  สภาพธรรมที่มีจริง ๆ ต่างกันเป็น ๒ ลักษณะแท้ ๆ แน่นอน  คือ เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ สามารถที่จะรู้ มีลักษณะที่รู้  ส่วน
อีกลัษณะหนึ่งนั้น ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม  เพราะฉะนั้น จึงต้องเข้าใจความต่างกันของนามธรรมกับรูปธรรมก่อน

นี่ก็คือการที่จะไม่สงสัยในรูปขันธ์และนามขัน ธ์ แต่ว่าเพียงเท่านี้  ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้เราเกิดปัญญาอะไรได้  เพราะเหตุว่าการสะสมปัญญายังไม่พอ  เพราะฉะนั้น ถ้าแยกนามขันธ์หรือนามธรรมออกเป็น ๔  ก็ได้แก่  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์  วิญญาณขันธ์...... แต่ถ้าแยกเป็นนามขันธ์หรือนามธรรมเป็น ๒  ก็ได้แก่ จิตและเจตสิก.....นามธรรม ๒ อย่างนี้  เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน  แล้วเป็นสภาพรู้ และแท้ที่จริงแล้ว มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นจิตประเภทหนึ่ง แล้วก็เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง  เพราะฉะนั้นนามธรรมก็มี ๒ แล้วแยกนามธรรม ๒ นี้ ออกเป็นนามขันธ์ ๔

นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องอื่น  แต่เป็นเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้  เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจชัดเจนในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ  ก็จะค่อย ๆ หมดความสงสัยความไม่รู้ในขันธ์
แต่ให้ทราบว่า ในขณะที่เป็นความสงสัย ๆ ในเรื่องราวหรือเปล่า....... ถ้าเป็นความสงสัยเรื่องราวอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับปรมัตถธรรมเลย ไม่มีขันธ์ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงสมมุติบัญญัติ  อันนั้นก็เป็นปฎิรูปกวิจิกิจฉา  แต่ถ้าเนื่องกับขันธ์โดยที่ไม่รู้ชื่อขันธ์  หรือว่ารู้ว่าเป็นขันธ์ แต่ก็ยังมีขันธ์ให้สงสัย คือ มีรูป เกิดมาก็มีรูป แล้วก็ไม่รู้ว่า นี่เป็นขันธ์  แล้วก็มีจิตใจด้วย  แล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นนามขันธ์  ไม่รู้ว่าเป็นจิตเป็นเจตสิก  แต่กระนั้นด้วยความยึดถือในสิ่งที่มีและยึดในสภาพที่เป็นขันธ์ แต่เรียกอย่างอื่น ก็คิดว่าสิ่งนี้แหละ เมื่อตายแล้วจะมีไหม  นั่นก็เป็นความสงสัยในขันธ์  เป็นสภาพของวิจิกิจฉาเจตสิก เพราะว่าจริง ๆ แล้ว ขณะนั้นไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องราว  แต่สงสัยในสภาพที่มีอยู่ในขณะนี้ ว่าเมื่อตายแล้วจะเกิดอีกหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาศัยการพิจารณาไตร่ตรอง แยกให้ออกว่าเป็นปฏิรูปกวิจิกิจฉา คือ ความสงสัยในเรื่องราว หรือว่าในขณะนั้นมีสภาพธรรม ซึ่งแม้ว่าเราไม่รู้ว่าบัญญัติเรียกว่า ขันธ์  แต่เราก็สงสัยแล้วในขันธ์นั้น ไม่ใช่ว่าคนที่เรียนถึงจะรู้หรือว่าถึงจะมี  แต่มีทั้งนั้น แต่ว่าโดยไม่รู้ตัว.....มีท่านใดสงสัยไหมว่า ชาติหน้าจะเกิดเป็นอะไร  นี่ก็เป็นสงสัยในขันธ์ แต่เราไม่รู้ตัว....เรื่องตายแล้วจะเกิดที่ไหนอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่รู้ไม่ได้  ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ยังต้องเกิดอีกทุกคน

                                                    ............................................................

                                                     
                                                         ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์