วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วันแม่แห่งชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕

        

 ทีฆายุกา  โหตุ  มหาราชินี

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม  ขอเดชะ
สมาคมไทย-กวนอิม,สวิตเซอร์แลนด์
(Thai-Kuan Yin-Union,Switzerland)

..................................................................................

                                     
                         วันแม่แห่งชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕

                                           พระคุณแม่   
                 ดอกไม้ช่อนี้ ลูกขอมอบจากใจ แด่.....แม่ผู้มีพระคุณของลูก ๆ




                    
 สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันแม่แห่งชาติแล้วนะคะ  ทุกท่านก็คงทราบกันดีว่า วันที่ ๑๒ สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย คือ "วันแม่แห่งชาติ"  และเป็น "วันเฉลิมพระชนมพรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ" คือเป็นวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพ.....วันนี้ฉันก็จะขอเขียนบทความเกี่ยวกับพระคุณของแม่ เพื่อให้ทุกท่านได้ระลึกถึงพระคุณของแม่ด้วย

ทุกท่านมี "แม่"  เพราะฉะนั้นความหมายของคำว่า "แม่" ก็คงทราบกันดี  หรือจะเรียกอีกอย่างว่า "มารดา" ก็ได้  มีความหมายว่า ผู้ให้กำเนิด....แม่เป็นผู้มีพระคุณต่อลูกอย่างหาที่เปรียบมิได้  พระคุณของท่านสุดประมาณ  ซึ่งลูก ๆ มิอาจที่จะตอบแทนได้หมด ถึงแม้ว่าลูกจะมีอายุอยู่ได้ถึง ๑๐๐ ปีก็ตาม.....แม่เป็นผู้หญิงที่มีจิตใจประเสริฐต่อลูก  เป็นผู้เสียสละเพื่อลูกได้แม้จะต้องแลกด้วยชีวิต  แม่รักลูกเมตตาลูกโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน....แม่ให้กำเนิดชีวิตแก่ลูกด้วยความรักอันบริสุทธิ์  แม้ว่าจะต้องเสี่ยงชีวิตตน  แม่ก็ยอมด้วยความปรารถนาอันแน่วแน่ ที่จะได้ลูกมาชื่นชม....แม่เป็นผู้กล้าหาญ  โบราณท่านว่า "การคลอดของผู้หญิง เสี่ยงความตายเหมือนกับบุรุษเข้าสงคราม"  แต่แม่ก็ไม่หวั่นไหวต่อความตาย

แม่เฝ้าทนุถนอมเลี้ยงลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์  จนกระทั่งคลอดออกมาดูโลก....แม่เอาใจใส่เลี้ยงดูลูกน้อยด้วยความรักและห่วงใย  อดหลับอดนอนแค่ไหนแม่ทนได้  ขอเพียงแต่ให้ลูกสุขสบาย แม่ก็หายเหนื่อยกายเหนื่อยใจ  ยามลูกเจ็บไข้ไม่สบาย  แม่ดูแลรักษาปัดเป่า ป้อนข้าวป้อนน้ำจนหายดี  แม่ไม่บ่น และไม่บ่นเบื่อ แม่ทำเพื่อลูกได้ทุกเมื่อ....

แม่เป็นครูคนแรกที่พร่ำอบรมบ่มนิสัยลูก ทั้งศีลธรรมจรรยาและมารยาท  สอนให้รู้สัมมาคารวะ รู้เจรจาวาจาดีมีวินัย  รู้รับผิดชอบการงานในหน้าที่ตน  สอนให้เป็นคนดีต่อตนเองและผู้อื่น ให้รู้ดีรู้ชั่ว รู้ประมาณตน  ไม่ประพฤติตนให้เดือนร้อน....แม่เป็นเสมือนพระพรหมของลูก  เพราะว่าแม่มีจิตใจที่เปี่ยมด้วยพรหมวิหาร ๔  แม่มีเมตตาไมตรีและเกื้อกูลลูกเสมอ  ยามลูกได้รับเคราะห์กรรมลำบากกายใจ  แม่สงสารพยายามช่วยลูกให้หายทุกข์  ยามลูกประสบสิ่งดีมีชัย  แม่ภูมิใจและพลอยยินดีด้วย  ถ้าลูกแย่แม่ไม่อาจช่วยแก้ได้  แม่ก็วางใจเป็นกลางไม่เหินห่าง.....แม่ให้อภัยในความผิดของลูกเสมอ ถึงแม้บางครั้งลูกแสดงกิริยาวาจาไม่สมควรต่อแม่ ๆ ก็ไม่ถือโทษโกรธลูกรัก.....ยามใดที่ลูกทุกข์ใจ แม่ก็ให้คำปลอบใจและกำลังใจที่ดี ๆ

แม่เป็นผู้ที่ให้ความรักและความอบอุ่นที่แท้จริงแก่ลูกเสมอ.....เมื่อลูกเติบโตถึงวัยเล่าเรียน  แม่ก็ส่งเสริมให้มีวิชาความรู้ไว้ติดตัวกันลำบาก  ลูกเรียนดีประพฤติดีแม่ปลื้มใจเหมือนได้รางวัลจากสวรรค์  ลูกเรียนแย่ประพฤติทรามแม่ช้ำใจ  แต่ก็ให้อภัยไม่ซ้ำเติม....เมื่อลูกมีงานมีเงินเจริญก้าวหน้า แม่ก็สุขเกษมเปรมปรี....เมื่อถึงวัยมีคู่มีครอบครัว  แม่ช่วยดูช่วยแนะนำแต่สิ่งดี  ด้วยห่วงใยและผูกพัน  ถ้าลูกสุขแม่ก็สุขด้วย....พระคุณแม่มากมายเหลือล้น  ควรหรือที่ลูก ๆ ทั้งหลายจะทอดทิ้งแม่  เมื่อยามท่านแก่เฒ่า  เมื่อยามท่านเจ็บป่วย  สมควรไหมที่จะใช้วาจาไม่ดีงามกับท่าน......ลูก ๆ โชคดีที่มีแม่อายุยืน มีร่มโพธิ์ร่มไทรไว้คุ้มเกล้า....แม่เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศประเสริฐแท้ของลูก ๆ ........

ฉันเองโชคไม่ดีที่มีแม่อายุไม่ยืน  แต่ฉันก็โชคดีที่มีแม่คนที่ ๒ (แม่เลี้ยง) ที่ดีคอยเป็นห่วงเป็นใยมาตลอด เป็นเสมือนแม่บังเกิดเกล้า  ท่านมีอายุยืนและแข็งแรงด้วย  ก็อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรและเป็นเนื้อนาบุญให้ลูก ๆ   เดี๋ยวนี้ท่านเริ่มหันมาสนใจสะสมบุญกุศล เพราะลูก ๆ ได้พยายามแนะนำและชักชวนพาไปทำบุญ ทำทานที่วัดบ่อย ๆ  เพื่อสะสมเป็นอุปนิสัยและเป็นปัจจัยสำหรับ ที่จะนำไปสู่สุคติภูมิได้ในภายภาคหน้า

                                          
                                                   กลอนวันแม่

                                               แม่เป็นหนึ่งของลูกในดวงใจ
                                        เป็นผู้ให้ลูกได้เกิดมีชีวิต
                                        พระคุณแม่มากล้นจนเกินคิด
                                        แม่คือมิตรที่แท้ไม่แปรผัน

                                        แม่ทุ่มเทกายใจให้แก่ลูก
                                        แม่พันผูกรักลูกชั่วชีวัน
                                        แม่สอนลูกให้มีดีครบครัน
                                       ให้รู้ทันความคิดจิตเบิกบาน


                                       ลูกขอน้อมกราบแม่ที่แทบเท้า
                                       เทิดเหนือเกล้าตราบชั่วกาลนาน
                                       ขอแม่อายุยืนชื่นบานเกษมสันติ
                                       เป็นมิ่งขวัญทุกวันคืนของลูกเทอญ



                                    .................................................






                               



วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จะขออะไรก่อนตาย

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ทุกท่านทราบดีว่า สักวันหนึ่งก็จะต้องจากโลกไป อย่างไม่กลับมาเป็นบุคคลเดิมอีกอย่างแน่นอน  แต่ก่อนที่จะจากไปจริง ๆ  ในชีวิตประจำวันก็มีการเห็น การได้ยิน  การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง  รู้ตึง รู้ไหว และรู้ความนึกคิดเป็นปกติธรรมดา.....แต่ว่าท่านเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ตามความเป็นจริงหรือยัง หรือเข้าใจเพิ่มขึ้นหรือไม่  เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นประโยชน์ของการอยู่ในโลกนี้ ซึ่งมีเห็น  มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส ฯลฯ  แล้วไม่รู้จักลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงเลย  สมควรไหม ที่จะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ทุกภพทุกชาติในสังสารวัฏฏ์

ถ้าจะขอสิ่งใดสักอย่างก่อนตาย เพียงสิ่งเดียวที่ท่านปรารถนา ท่านคิดว่าจะขออะไร ซึ่งเป็นสิ่งประเสริฐสูงสุดของการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้......อะไรคือสิ่งที่มีค่าสูงสุดแก่ชีวิต....สิ่งที่ประเสริฐและมีค่าสูงสุดที่ควรขอก็คือ ขอผลของกุศลทั้งหมด ที่ได้กระทำแล้ว จงเป็นปัจจัยให้สามารถเข้าใจลักษณะสภาพธรรมกำลังปรากฏตามความเป็นจริงในทุกภพทุกชาติ.....การที่จะขอในสิ่งดังกล่าวนี้ เพื่อที่จะได้ผลดังปรารถนา ก็จะต้องมีความเพียรและขันติมากทีเดียว จึงจะสามารถเข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญเพียรถึง ๔ อสงไขแสนกัปเพื่อรู้แจ้งความจริงของสภาพธรรม และพระองค์ได้ทรงเผยแผ่พระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นเวลาถึง ๔๕ พรรษา เพื่อเกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ให้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวงเช่นพระองค์  เพราะฉะนั้น สิ่งเดียวที่ควรขออย่างแน่วแน่และมั่นคง แต่ไม่ใช่ขอด้วยความต้องการ ขอผลของกุศลทั้งหลายที่ได้กระทำแล้ว จงเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็คือบารมีทั้งหมดนั้นเอง.....

สาวกพระโพธิสัตว์, พระปัจเจกโพธิสัตว์และพระมหาโพธิสัตว์ไม่ได้ปรารถนาสิ่งอื่นใดเลย ที่นอกเหนือไปกว่าการขอความเข้าใจ ในสิ่งมีจริงที่กำลังปรากฏ  และการขอนี่ก็ไม่ใช่การไปนั่งขอกับใคร  แต่รู้ว่ากุศลกรรมมีผลแน่นอน  ผู้ที่ต้องการผลของกุศลกรรมที่เป็น รูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ และยศฐาบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ ก็จะได้ตามปรารถนาเมื่อกุศลส่งผล.....แล้วทุกท่านที่ทำกุศลล่ะ  ปรารถนาอะไรก่อนตาย  ทุกวันนี้ท่านปรารถนาอะไร  กุศลนั้นใช่ว่าจะให้ผลเป็นอย่างอื่น แต่สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏดีขึ้น  เพราะฉะนั้น ควรขอสิ่งประเสริฐก่อนตาย คือ ขอให้ได้ฟังธรรมให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง แล้วปัญญาที่เข้าใจธรรมนี้ ก็จะทำให้ชีวิตไม่ติดข้องในสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะเข้าใจตามความเป็นจริง.


                                                     ขออนุโมทนาบุญ

                                            ........................................

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จิตที่มีโทษมาก

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ท่านทราบไหมว่า เราศึกษาธรรมเพื่ออะไร....เราศึกษาธรรม ก็เพื่อที่จะละจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด  ซึ่งเป็นจิตอกุศลที่มีโทษมาก  ในชีวิตประจำวันของทุกคนจิตก็จะเป็นในรูป เสียง กลิ่น รส  เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว และความคิดนึก เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่จิตที่ได้ฌาน หรือจิตระดับฌานจิต ยังเป็นจิตที่มีความติดข้อง ต้องการ ยินดีอยู่ในกามรมณ์ จึงเรียกว่า กามาวจรจิต

ในวันหนึ่ง ๆ  เรามีความเห็นผิดอย่างไรบ้าง ทุกคนควรที่จะทราบด้วยตนเอง ว่าทำไมจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดจึงมีโทษมาก...บางทีก็อาจจะเข้าใจว่า ตนไม่มีความเห็นผิดอะไรเลย  ก็ขอให้ทราบว่า ความเห็นผิด (ทิฏฐิ)  นี้มีชนิดตั้งแต่หยาบ ๆ จนกระทั่งถึงชนิดละเอียด  ถ้าเราไม่เป็นผู้ที่ละเอียดรอบครอบ ก็จะไม่รู้ตัวเลยว่า เป็นผู้มีความเห็นผิด

ถ้ามีความเห็นไม่ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมจริง ๆ แล้ว  ก็ต้องเป็นความเห็นผิด  เราต้องเป็นผู้ตรงและต้องทำความเห็นให้ตรงด้วย  เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมี ๒ อย่าง คือ ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ที่เป็นอกุศล กับความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นกุศล.....ผู้ที่มีความรอบครอบ  พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมแล้ว เป็นผู้ตรง  คือ เห็นผิดก็คือเห็นผิด  เห็นถูกก็คือเห็นถูก  ผู้นั้นย่อมสามารถที่จะลดความเห็นผิดลงได้ตามกำลังของปัญญา

ทุกคนมีความเห็นผิดสะสมไว้มาก บางครั้งเป็นผู้เชื่่อง่าย ใครชักชวนให้ไปทำอะไรก็ทำ โดยไม่่ได้คิดพิจารณาไตร่ตรองถึงเหตุผล ว่าตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ ในที่สุดก็จะเป็นผู้มีความโน้มเอียงไปในทางเห็นผิดได้.....ผู้ที่จะเป็นอริยบุคคลขั้นต้น คือพระโสดาบันบุคคล  จะต้องละความเห็นผิดก่อนที่จะดับกิเลสทั้งหมดได้  จะต้องดับ "โลภะมูลจิต" ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด  หรือกล่าวอีกอย่างว่า "ดับทิฏฐิ"  ถ้ายังไม่ใช่อริยบุคคลก็ยังต้องมีความเห็นผิดอยู่  แต่ก็ไม่ค่อยรู้ตัว  เพราะฉะนั้น ควรฟังธรรมให้เข้าใจเพื่อเป็นปัญญาที่จะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง.

                                         
                                          .........................................

                                                
                                                  ขออนุโมทนาบุญค่ะ

วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กรรมเป็นเครื่องตัดสิน


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในชีวิตแต่ละวัน ๆ ทุกคนมีอกุศลวิตก หรือความคิดเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือเป็นไปในเรื่องโกรธบ้าง อาฆาตพยาบาทบ้าง  เบียดเบียนบ้าง  แต่ไม่มีความเห็นผิด....แต่ผู้ที่มีความโน้มเอียงไปในทางเห็นผิด ก็จะคิดว่า เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน  ที่จิตต้องคิดเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ..... บางคนเมื่อเห็นผู้อื่นทำอกุศลกรรมมาก ๆ  และเป็นอกุศลกรรมที่ร้ายแรงด้วย ก็จะคิดว่า เขาผู้นั้นสมควรที่จะได้รับโทษ หรืออาจจะคิดว่า เขาผู้นั้นสมควรที่จะตายเสีย เพราะอยู่ต่อไปก็ไม่ทำสิ่งที่ดีเลย  ขณะที่คิดเช่นนั้นจิตเป็นอกุศลแล้ว และยังมีความโน้มเอียงไปในทางเห็นผิดด้วย

แทนที่จะคิดเมตตาสงสารผู้ที่กระทำอกุศลกรรมมาก ๆ และเป็นอกุศลที่ร้ายแรงด้วย ควรที่จะเป็นมิตรไมตรีและมีความสงสารต่อผู้ที่กระทำอกุศลกรรม  คิดหาทางที่จะช่วยเหลือเขา เพื่อไม่ให้เขากระทำอกุศลกรรมหนักเพิ่มขึ้น  แต่ถ้าคิดเมตตาสงสารเขา ตอนที่เขาได้รับผลของอกุศลกรรมแล้ว มีความทุกข์ยากลำบากมาก เพราะเกิดจากกรรมที่เขากระทำไว้  นี่ก็ไม่ถูกต้อง  เป็นความโน้มเอียงไปในทางเห็นผิด

เราไม่ใช่ผู้ตัดสินกรรม หรือเป็นผู้จัดการโลกซะเอง......ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในเรื่องของกรรมจริง ๆ  และถ้าเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า   เมื่อเห็นผู้อื่นกระทำอกุศลกรรมมากมายแค่ไหนก็ตาม  เขาผู้นั้นก็จะมีเมตตากรุณาเป็นมิตรไมตรีกับทุกคน  คิดหาทางช่วยเหลือผู้กระทำผิด  และจะไม่คิดสมน้ำหน้า หรือดีใจเมื่อเห็นผู้อื่นได้รับโทษจากอกุศลกรรม  เขาจะปล่อยให้ "กรรมเป็นเครื่องตัดสิน"  แทนที่จะเป็นผู้จัดการซะเอง

การโน้มเอียงไปในทางเห็นผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ  ถ้าเป็นบ่อย ๆ ก็จะเป็นผู้ไม่เห็นว่า เรื่องของกรรมนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล  เพราะฉะนั้น เวลาที่กระทำกรรมด้วยความโกรธ แล้วมีความเห็นว่าการกระทำนั้นไม่บาป เช่น การทำร้ายต่อผู้มีพระคุณหรืออะไรก็ตาม แล้วก็คิดว่าไม่เป็นอกุศลกรรม ความคิดเช่นนี้ก็จะโน้มเอียงไปในทางเห็นผิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั้งกลายเป็นผู้มีความเห็นผิดเป็น "มิจฉาทิฏฐิ"ในที่สุด


                                           ......................................


                                                 ขออนุโมทนาบุญค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สังเกตโทสะด้วยเวทนา



ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
 
ชีวิตคนเราวันหนึ่ง ๆ เต็มไปด้วยอกุศล แต่ส่วนใหญ่เราจะไม่รู้ลักษณะ ความแตกต่างของกุศลและอกุศล
มักจะกระทำอกุศลกรรมอยู่บ่อย ๆ เพราะเหตุว่าเข้าใจผิด คิดว่าอกุศลเป็นกุศล ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คิด"อยากจะทำบุญ" มาก ๆ เพื่อที่จะได้มีบุญมาก ๆ นี่ก็เห็นแล้วว่า มีความติดข้อง ต้องการในบุญ....ความติดข้อง ต้องการ ยินดี พอใจ อยากได้ อยากมี เหล่านี้เป็นลักษณะของ "โลภะ"  เป็นกิเลส ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล....

แต่ถ้าคิดว่า "จะทำบุญ" ขณะนั้นจิตเป็นกุศลแล้ว เพราะเหตุว่าจิตขณะนั้น ไม่ประกอบด้วยโลภะ.....จะเห็นได้ว่า  ธรรมะเป็นเรื่องละเอียดและตรง  ดังนั้น จึงต้องค่อย ๆ สะสมความรู้ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งจิต ให้เป็นกุศลเพิ่มยิ่ง ๆ ขึ้น จนกว่าจะเป็นปัญญาของตนเอง

ท่านทราบไหม "โทสะ" มีลักษณะอย่างไร

ลักษณะหรือธรรมชาติของโทสะ  ได้แก่ ความไม่พอใจ เสียใจ น้อยใจ ขุ่นเคืองใจ หงุดหงิด กังวล  หรือพูดง่าย ๆ ว่า ความไม่สบายใจทั้งหมด เป็นโทสะ เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยปฏิฆะ.....คำว่า "ปฏิฆะ" หมายถึง การกระทบกระทั่ง  ทำให้เกิดความไม่สบายใจ  เพราะฉะนั้น โทสะกับปฏิฆะ  จึงเป็นสภาพธรรมประเภทเดียวกัน

การที่เราจะทราบได้ว่า จิตเป็นอกุศลประเภทใด ก็จะต้องสังเกตที่ "ความรู้สึก" (เวทนา) ถ้าขณะนั้นมีความรู้สึกไม่สบายใจ ขณะนั้นจะทราบได้ว่า จิตเป็น "โทสมูลจิต" เท่านั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และสติสัมปชัญญะจะทำหน้าที่ ระลึกรู้สภาพของจิตที่เบาหรือหนัก  ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลต้องเบา ไม่ติดข้อง ต้องการ ยินดี พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว และความนึกคิดในขณะนั้น กุศลจิตต้องเป็นสภาพที่เหมือนปล่อยวาง

ขณะนี้ ท่านผู้อ่านมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง หนักหรือเบาคะ  มีความติดข้อง ต้องการในสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือเปล่า สังเกตแล้วหรือยัง ต้องสังเกตความรู้สึกด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะรู้ได้ว่า จิตขณะนั้นมีลักษณะอย่างไร....สรุปโดยย่อ ๆ  การสังเกตลักษณะของโทสะ "ความรู้สึกดุร้ายและความไม่สบายใจทั้งหมดเป็น โทสมูลจิต"

                                           
                                              ..................................
           
                                                    ขออนุโมทนาบุญ